xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.ชี้แจงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้ผู้มีส่วนได้-เสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบังจัดประชุมชี้แจงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยมีผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเข้าร่วม ส่วนใหญ่พึงพอใจแนวทางในการช่วยเหลือ

วันนี้ (1 เม.ย.) เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี และนายสุวัฒน์ พิพัฒนปัญญกูล ผู้จัดการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ร่วมเปิดการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ณ ห้อง The ballroom ชั้น 6 โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวิทส์ ศรีราชา แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี นางสิริมา กีรตยาคม ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานสนับสนุน ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารท่าเรือแหลมบัง ผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผู้แทนจากภาคประชาชนชน นักวิชาการอิสระ นักวิชาการท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนราชการท้องถิ่นร่วมประชุมในครั้งนี้

เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท และในวันนี้ เป็นการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ เป็นการดำเนินกิจกรรมตามที่ได้ระบุไว้ตามข้อกำหนดในมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานตามมาตรการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ-สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้มากถึง 7 ล้านทีอียู /ปี มากกว่าเฟสที่ 1 และ 2 ที่อยู่ที่ 4.3 และ 6.8 ล้านทีอียู/ปี ตามลำดับ ขณะที่ปัจจุบันมีตู้สินค้าเข้ามาประมาณ 7.6 ล้านทีอียู/ปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณตู้สินค้ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณปีละ 5% หากไม่ดำเนินการระยะที่ 3 คาดว่าจำนวนตู้สินค้าก็เต็มขีดความสามารถของทั้งเฟส 1 และ 2 ที่รับได้เพียง 11.1 ล้านทีอียู/ปี เป็น 18.10 ล้านทีอียู/ปี

ด้านนายเจษฎา ชูชาติ ผู้จัดการฝ่ายออกแบบการก่อสร้าง กล่าวว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในช่วงเดือน พ.ค.นี้ โดยมีการวางแผนงาน คือ ในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ จะเริ่มวางหมุนทางทะเล จำนวน 13 จุด 2.การก่อสร้างบ้านพักพนักงาน 3.เจาะสำรวจ และ 4.เตรียมการขนหินเข้าพื้นที่ จากแหล่งหินในอำเภอเมืองชลบุรี

สำหรับการดำเนินการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 4 ปี โดยในปีแรกจะมีการปรับปรุงบ่อตกตะกอนที่จะนำทรายไปทิ้ง จำนวน 7 บ่อ ปีที่ 2 จะเริ่มถมดินในฝั่งท่าเรือ E และ F ปีที่ 3 ก่อสร้างท่าเรือ อาคาร คลองบางละมุง และเขื่อน และปีที่ 4 สร้างท่าเรือ E

ด้านนางสิริมา กีรตยาคม ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานสนับสนุน กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบัง มีแนวทางในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง โดยจัดตั้งมูลนิธิชุมชน-ท่าเรือร่วมใจ เป็นการชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ จำนวน 39 ชุมชน และ 6 กลุ่มประมง

การประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการในครั้งนี้ ได้เน้นการประชาสัมพันธ์กับผู้นำชุมชน การนำเสนอแผนการก่อสร้างโครงการและวิธีการดำเนินงานมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการป้องกันผลกระทบในการขุดลอก ที่ตั้งบ้านพักคนงานก่อสร้าง เส้นทางการขนหิน การจ้างงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจในการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 จะดำเนินให้เป็นไปตามมาตรการกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม Environmental Health Impact Assessment : EHIA ที่กำหนดไว้

สำหรับการประชุมชี้แจงและประชาสัมพันธ์ ในครั้งนี้ โดยผู้นำชุมชนและชาวบ้านส่วนใหญ่พึงพอใจในแนวทางการทำงานและแนวทางในการช่วยเหลือของท่าเรือแหลมฉบังต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ








กำลังโหลดความคิดเห็น