xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.เตรียมจัดตั้งมูลนิธิชุมชน-ท่าเรือร่วมใจ เพื่อดูแลชุมชนรอบท่าเรือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง เตรียมจัดตั้งมูลนิธิชุมชน-ท่าเรือร่วมใจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนรอบท่าเรือแหลมฉบัง ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ให้ได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว

วันนี้ (24 มี.ค.) ที่ศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชนรอบท่าเรือแหลมฉบัง เกี่ยวกับร่างข้อบังคับ/ระเบียบในการจัดตั้งมูลนิธิชุมชน-ท่าเรือร่วมใจ เพื่อตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาชุมชนรอบท่าเรือแหลมฉบัง และกองทุนเยียวยาความเสียหายจากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีเรือเอกกานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังเป็นประธาน

นางสิริมา กีรตยาคม ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานสนับสนุน ท่าเรือแหลมฉบัง เผยว่า การจัดตั้งมูลนิธิชุมชน-ท่าเรือร่วมใจ นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากท่าเรือแหลมฉบังมีโครงการพัฒนาท่าเรือระยะที่ 3 โดยจะต้องมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA และในแผน EHIA นั้นกำหนดไว้ว่า ต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนพัฒนาชุมชนรอบเขตท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 39 ชุมชน และกองทุนเยียวยาความเสียหายจากการก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบัง

สำหรับกองทุนทั้ง 2 กองทุนนั้นจะอยู่ภายใต้มูลนิธิชุมชน-ท่าเรือร่วมใจ โดยกองทุนดังกล่าวจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งกองทุนชดเชยความเสียหายจากการก่อสร้างโครงการท่าเรือระยะที่ 3 โดยจะเป็นในลักษณะที่ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้รับเหมา 0.25% ของวงเงินค่าจ้างเข้ามาในกองทุน เพื่อให้กรรมการกองทุนบริหารจัดการ นอกจากนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างก็มีสิทธิมายื่นเรียกร้องความเสียหายจากกองทุนนี้

สำหรับในส่วนของกองทุนพัฒนาชุมชนเป็นกองทุนที่มีลักษณะคล้ายๆ กองทุนโรงไฟฟ้า ซึ่งจะมีการบริหารกองทุนโดยภาคประชาชน หน่วยงานราชการ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมี เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานกองทุน จึงมี 3 ภาคส่วนที่จะเข้ามาร่วมบริหารกองทุน

นางสิริมา กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเงินในกองทุนดังกล่าว ทางท่าเรือแหลมฉบังจะสนับสนุนงบประมาณปีละ 7,800,000 บาท โดยทางกรรมการบริหารกองทุน จะเป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณดังกล่าวในแต่ละปี ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วโดยนำเสนอผ่านฝ่ายบริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย และเตรียมเสนอบอร์ดอนุมัติมอบอำนาจให้ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังไปขอจัดตั้งมูลนิธิ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากนั้นจะยื่นเอกสารทั้งหมดให้แก่อำเภอศรีราชา พร้อมทั้งเสนอถึงจังหวัดชลบุรี โดยจังหวัดจะเข้ามาตรวจสถานที่ตั้ง ร่างระเบียบมูลนิธิฯ และกองทุน การบริหารจัดการ เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย เงินงบประมาณจากส่วนต่างๆ จะเข้ามาในแต่ละกองทุนทันที ซึ่งหากการจัดตั้งมูลนิธิฯเรียบร้อย จะมีประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบท่าเรืออย่างมาก โดยที่ผ่านมา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอาจจะได้รับการเยียวยาล่าช้า เนื่องจากต้องผ่านหลายขั้นตอน แต่หลังจากนี้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบสามารถมาขอรับการเยียวยาได้ที่มูลนิธิฯ นี้ได้เลย ซึ่งในเวทีวันนี้ทุกคนยกมือเห็นชอบร่างดังกล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น