เชียงใหม่ - จังหวัดเชียงใหม่สั่งด่วนเร่งทำแนวกันไฟในพื้นที่หน้าผาสูงชัน และเข้าถึงยากสกัดไฟป่า พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และสังเกตการณ์จนกว่าไฟดับสนิท ป้องกันปะทุซ้ำในจุดเดิม
วันนี้ (18 มี.ค.) ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมติดตามสถานการณ์การเกิดจุดความร้อนในอำเภอต่างๆ ผ่านการประชุมระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยในวันนี้มีจุดความร้อนเกิดขึ้น จำนวน 40 จุด ในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง แม่ริม ดอยสะเก็ด เชียงดาว อมก๋อย ฝาง ไชยปราการ พร้าว แม่แจ่ม และแม่ออน
ทั้งนี้ ในส่วนของอำเภอแม่แตงเป็นจุดที่ลุกลามมาจากช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้ (17 มี.ค. 64) จำนวน 6 จุด ในเขตป่าอนุรักษ์ ส่วนที่อำเภอไชยปราการเกิดขึ้น 2 จุด คือที่บ้านมะขามป้อม ตำบลศรีดงเย็น ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไฟป่าผาแดงและหน่วยป้องกัน ชม.4 ปางมะขามป้อมได้เข้าถึงพื้นที่แล้ว แต่ด้วยบริเวณดังกล่าวเป็นหน้าผาสูง จึงได้มีการจัดกำลังเฝ้าระวัง ซึ่งหากสามารถเข้าดับไฟได้ก็จะดำเนินการดับทันที และอีกจุดคือที่บ้านใหม่หนองบัว เจ้าหน้าที่ได้เข้าถึงพื้นที่แล้วเช่นกัน
จากสถานการณ์ดังกล่าว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงได้สั่งการให้มีการทำแนวกันไฟกรณีพื้นที่เป็นหน้าผาสูงชัน และเข้าถึงได้ยาก พร้อมจัดกำลังพลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และให้สังเกตจนกว่าไฟจะดับสนิทเพื่อไม่ให้ไฟเกิดการปะทุซ้ำในจุดเดิม ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำไปยังหน่วยดับไฟให้มีการตรวจสุขภาพ ผลัดเวร และจัดสรรเวลาในการทำงานให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติหน้าที่
สำหรับค่าคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ในเช้าวันนี้ พบว่าทั้ง 4 จุดหลักของกรมควบคุมมลพิษยังคงเกินค่ามาตรฐานที่ 53-67 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพบมากที่สุดที่สถานีตรวจวัดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ที่ 67 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ขณะที่สภาพอากาศในช่วง 1-3 วันข้างหน้าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ยังคงอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังในเรื่องของแหล่งกำเนิดในพื้นที่ต้นลมอย่างใกล้ชิด
ส่วนการคาดการณ์โอกาสของการเกิดพายุฝน/พายุฤดูร้อน จากดัชนีอุตุนิยมวิทยา พบว่าระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม 2564 มีโอกาสสูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดพายุฤดูร้อน และมีการกระจายของฝน โดยเฉพาะในโซนอำเภอทางใต้ ซึ่งจะทำให้มีการระบายอากาศที่ดีขึ้น และช่วยระบายฝุ่นที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องได้ อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำว่าจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีแนวทางและการอนุมัติเห็นชอบในการเผาทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 15-22 มีนาคม 2564 และจะเริ่มกลับมาพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการเผา/การบริหารจัดการเชื้อเพลิงอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2564