xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าสร้างสนามบิน “สารสินธุ์” กระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว 2 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เวทีสัมมนาการก่อสร้างท่าอากาศยานสารสินธุ์ ณ หอประชุมโรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ - กมธ.คมนาคมลงพื้นที่หารือแผนสร้างสนามบิน “สารสินธุ์” เล็งใช้พื้นที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ ใช้งบประมาณสนง.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 5.7 ล้านบาท มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขยายตัว


เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุมโรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานสัมมนาการก่อสร้างท่าอากาศยานสารสินธุ์ โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,

นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์, นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์, นายสมเกียรติ มณีสถิต รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน, รศ.ดร.ประยูร วงศ์จันทรา ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ประธานหอการค้า จ.กาฬสินธุ์ ร่วมเป็นวิทยากรในเวทีเสวนา โดยมีส่วนราชการ ภาคประชาคม ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.กาฬสินธุ์มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเติบโตน่าพอใจจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีเขื่อนลำปาวและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมหลายแห่ง เมื่อพิจารณาถึงระบบคมนาคมขนส่ง พบว่า จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกันยังไม่มีท่าอากาศยานภายในจังหวัด

ทำให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่จะเดินทางต้องไปใช้บริการท่าอากาศยานขอนแก่นและร้อยเอ็ด ส่งผลให้การคมนาคมไม่สะดวก ที่ผ่านมาจึงไม่สามารถพัฒนาจังหวัดได้เต็มศักยภาพ ซึ่งในอนาคตหากมีสนามบินเชื่อม 2 จังหวัดถือเป็นเรื่องที่ดีมาก




ด้านนางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าจ.กาฬสินธุ์มีพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และสัตว์เศรษฐกิจกุ้งก้ามกราม และปลากระชัง อาศัยน้ำจากระบบชลประทานลำปาวเสมือนเป็นเส้นโลหิตหล่อเลี้ยง และเป็นอาชีพหลักของประชาชน เป็นสินค้าส่งออกที่สร้างงาน สร้างรายได้ตลอดปี นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ รอรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวสู่ชุมชน

แต่ระบบคมนาคมขนส่งมีเฉพาะทางรถยนต์เท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ จึงได้ร่วมกับหลายภาคส่วนผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินขึ้นในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เชื่อมกับ จ.มหาสารคาม ซึ่งพื้นที่มีความพร้อมและทุกภาคส่วนให้การตอบรับดี เนื่องจากจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคามไปในทางที่ดีขึ้น


ด้านนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สิ่งที่เห็นพ้องกันคือกาฬสินธุ์ต้องดีกว่านี้ ทุกฝ่ายทั้งภาคการเมือง ส่วนราชการ ภาคประชาคม ชุมชน ต้องมีความสามัคคี เพื่อให้ระบบสาธารณูปโภคทุกด้านดีขึ้น ต้องมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันพัฒนาร่วมกันกำหนดทิศทาง นับจากนี้ประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้าเดินหน้าโครงการจะเข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยและศึกษาความเป็นไปได้การสร้างอากาศยาน จะใช้ชื่อท่าอากาศยานแห่งนี้ว่า ท่าอากาศยานสารสินธุ์ โดยได้รับงบจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 5,700,000 บาท ในการทำโครงการวิจัยดังกล่าว

ขณะที่ นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การลงพื้นที่จัดสัมมนาที่ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม อยากมีสนามบินเป็นความต้องการของภาคราชการ และประชาชน รวมทั้ง ส.ส.ทั้ง 2 จังหวัดที่ร่วมกันแสดงพลังผลักดันสร้างท่าอากาศยาน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารอบด้าน มีมติร่วมกันตั้งชื่อว่า “สนามบินสารสินธุ์” เป็นสนามบินของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม ถือเป็นมิติใหม่ที่ดี ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่พบว่าทั้ง 2 จังหวัดนี้มีศักยภาพควรสนับสนุน ซึ่งคณะกรรมาธิการคมนาคมสภาผู้แทนราษฎรจะนำข้อมูลนี้เสนอไปยังฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น