เชียงใหม่ - ม.แม่โจ้ชวนร่วมงาน “แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ(ชา)” วิจัยต่อยอดใช้ประโยชน์ชิ้นส่วนกัญชา ทั้งใบ ต้น และราก ปรุงเมนูเด็ดจากกว่า 40 ร้านทั่วเชียงใหม่ ร่วมสาธิตให้ชมและชิมฟรีตลอดงาน จำกัด 500 คนตามมาตรการโควิด-19 ก่อนประเมินผลจัดทำเป็นหลักเกณฑ์การใช้
ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ก.พ. 64 เวลา 08.30-12.00 น. มหาวิทยาลัยแม่โจ้เตรียมจัดงานโครงการ “แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ(ชา)” ที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ บริเวณโรงปลูกกัญชาทางการแพทย์ 16,700 ต้น โดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติรับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งกิจกรรมในงานจะเป็นการสาธิตการนำชิ้นส่วนกัญชาที่ใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะใบกัญชา รวมทั้งต้นและรากมาปรุงอาหาร โดยร้านอาหารและผู้สนใจในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 43 ราย ขณะที่จำนวนผู้เข้าร่วมงานนั้น เบื้องต้นมีการจำกัดจำนวนไว้ไม่เกิน 500 คน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและคัดกรองผู้เข้าร่วมงานอย่างละเอียดทุกคน
ทั้งนี้ ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการนั้น มีทุกระดับตั้งแต่ร้านอาหารตามสั่งในมหาวิทยาลัยแม่โจ้หรือสตรีทฟูดทั่วไป, ร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารเครื่องดื่ม โดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้จะสนับสนุนใบกัญชาสดให้ร้านละ 200 กรัม พร้อมปริมาณแนะนำการใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารเฉลี่ยจานละ 1 ใบ รวมทั้งชิ้นส่วนของต้นและรากอีกจำนวนหนึ่งตามความเหมาะสมและตามสูตรอาหารของแต่ละร้าน เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารและนำเสนอเมนูอาหารอย่างหลากหลายทั้งอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมการปรุงอาหารและชิมฟรีด้วย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวด้วย
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ต่อยอดจากโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการที่จะนำชิ้นส่วนของกัญชานอกจากช่อดอกมาใช้ประโยชน์และทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยมีโรงพยาบาลอภัยภูเบศรเป็นต้นแบบในเรื่องการนำมาใช้ปรุงเป็นเมนูอาหาร และได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและยา (อย.) ด้วย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการทดสอบและทำให้ทราบถึงคุณสมบัติที่ดีของกัญชาในการนำมาใช้ปรุงอาหาร ตลอดจนเป็นการประเมินผลข้อมูลที่นำไปสู่การวางหลักเกณฑ์ ทั้งวิธีการและปริมาณการใช้ที่เหมาะสมเพื่อหน่วยงานรับผิดชอบจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎระเบียบตามกฎหมายต่อไป