นครพนม - ผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ดูความก้าวหน้าวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาต้นแบบที่
อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ก่อนทำ MOU เพื่อนำช่อดอกทำวิจัยผลิตยารักษาโรคและนำใบกัญชาปรุงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพทั้งทำกินเองในครัวเรือน และทำเมนูรสเด็ดขายตามร้านอาหาร เชื่อกัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แปลงสาธิตปลูกกัญชาวิสาหกกิจ ต.นาคำ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 พร้อมคณะ ร่วมกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลักดันก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาของ ต.นาคำ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ซึ่งเป็น วิสาหกิจชุมชนแห่งแรกที่ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการปลูกกัญชาเพื่อทำวิจัยในการรักษาโรค ตามนโยบายของพรรคภูมิใจไทย และนโยบายของรัฐบาล
ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรทางเลือกปลูกกัญชาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ภายใต้การขออนุญาตตามกฎหมาย เนื่องจากกัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษที่ต้องควบคุม
เบื้องต้นวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้นำร่องเป็นแปลงสาธิต จำนวน 50 ต้น มีการปลูกแบบปลอดสารเพื่อจะได้ลงนามความร่วมมือกับทางหน่วยงานสาธารณสุขนำไปวิจัยด้านการทำยารักษาโรค ซึ่งจะใช้ช่อดอกไปทำการทำวิจัย ส่วนใบกัญชาจะได้มีการขออนุญาตนำไปปรุงประกอบอาหารเป็นเมนูเพื่อสุขภาพชนิดต่างๆ และมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด
ส่วนการปลูกจะเป็นสายพันธุ์พื้นบ้าน ชื่อหางกระรอกภูพาน เป็นพื้นล้มลุก ใช้เวลาปลูกประมาณ 3-4 เดือน สามารถเก็บผลผลิตได้ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน อสม. ประชาชนให้การต้อนรับพร้อมกับชิมเมนูน้ำสมุนไพรใบกัญชา รับประทานคู่กับขนมเปี๊ยะสูตรผสมสมุนไพรใบกัญชาอีกด้วย
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 เปิดเผยว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แค่บางส่วน โดยช่อดอกและเมล็ดกัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้ เนื่องจากตามอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศยังควบคุมเป็นยาเสพติด แต่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และส่วนของกัญชาที่ปลดล็อกแล้วสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ โดยผู้ที่จะนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้จะต้องนำมาจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูก สกัด และผลิตเท่านั้น
สำหรับขั้นตอนการปลูก สกัด และผลิต ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุผู้มีคุณสมบัติขออนุญาต คือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย
โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐตามเงื่อนไข และการนำเข้าวัตถุหรือสารของส่วนของกัญชานั้นให้นำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งของกัญชา
ในส่วนองค์ประกอบของกัญชาที่ปลดล็อกแล้ว ประกอบด้วย ส่วนของใบ กิ่ง ก้าน และราก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์ เช่น ยา อาหาร สมุนไพร เครื่องสำอาง ในส่วนของเปลือก ลำต้น เส้นใย ใช้ศึกษาวิจัย นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์ กระดาษ เป็นต้น ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดได้ แต่ต้องมาจากผู้ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายโดย ปรุงอาหารได้ ทำผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ โดยต้องใช้ส่วนวัตถุดิบกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด และต้องมาจากสถานที่ปลูกภายในประเทศที่ได้รับการอนุญาตแล้วเท่านั้น สามารถทำใช้เองได้ในครัวเรือน เช่น ลูกประคบสด หรือถ้าจะผลิตเพื่อจำหน่ายต้องขออนุญาตภายใต้กฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น เช่น พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง
สำหรับประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชา กัญชง ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดได้ แต่ต้องมาจากผู้ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสถาบันกัญชาทางการแพทย์ได้เปิดช่องทางจับคู่ระหว่างผู้ที่สนใจใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาที่ไม่เป็นยาเสพติดกับผู้ได้รับอนุญาตปลูกโดย สามารถลงทะเบียนที่ http://bit.ly/2N4NC3R
ทั้งนี้ การนำใบกัญชาไปประกอบอาหารเพื่อรับประทานในครัวเรือน หรือจำหน่ายในร้านอาหารของตัวเองสามารถทำได้ แต่หากนำส่วนของกัญชา กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติดไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่ายจะต้องขออนุญาตภายใต้กฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นด้วย ขณะนี้สามารถขออนุญาตเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชงและสารสกัดของเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรใช้ภายนอก เช่น ยาหม่อง ยาน้ำมัน ยาครีม ที่มีส่วนประกอบของใบ ลำต้น กิ่งก้านและรากกัญชา กัญชงได้แล้ว ส่วนการขยายการใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายให้มีผลใช้บังคับต่อไป