xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ทับทิมประดับนลาฏพระพุทธรูปสี่มุมเมืองประจำทิศเหนือหายข้ามปี วันนี้ยังไร้ร่องรอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำปาง - ศรัทธาสาธุชนวิจารณ์กันทั่ว..หลัง “ทับทิมสีแดง” ที่เคยประดับบนนลาฏ (หน้าผาก) หลวงพ่อดำ-พระพุทธรูปสี่มุมเมืองประจำทิศเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปางหายไปอย่างไร้ร่องรอยข้ามปี


ขณะนี้ชาวเมืองลำปางกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู กรณี “ทับทิมสีแดง” ที่เคยประดับบนนลาฏ (หน้าผาก) องค์หลวงพ่อดำ หรือพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ พระพุทธรูปสี่มุมเมืองประจำทิศเหนือ ณ มณฑปภายในพื้นที่ศาลหลักเมืองจังหวัดลำปาง ได้หายไปอย่างไร้รองรอย

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เทศบาลนครลำปาง และภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดงาน “สมโภชพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ (หลวงพ่อดำ)” เมื่อ 26-27 ธ.ค. 63 ปีที่ผ่านมา

เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความตระหนักรู้ถึงประวัติและความสำคัญของพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ พร้อมทั้งฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีในการสมโภชพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และการสืบสานประเพณีพิธีกรรม อีกทั้งยังเป็นกุศโลบายในการขจัดปัดเป่าภัยร้าย และปัดเป่าปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นแก่ประเทศไทย เสริมดวงชะตาเมืองลำปาง แสะสร้างความร่มเย็นให้แก่ชาวลำปาง

ในวันดังกล่าวได้มีการจัดพิธีทั้งบริเวณภายนอกและภายในมณฑปองค์หลวงพ่อดำ และช่วงที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เข้าร่วมพิธี สังเกตเห็นว่าบริเวณนลาฏ (หน้าผาก) องค์หลวงพ่อดำ ไม่มีทับทิมสีแดงซึ่งเคยประดับไว้ จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จนทราบว่าทับทิมได้หายไปจริง จนกระทั่งเป็นข่าวแพร่สะพัดไปทั่ว

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ทราบว่าได้มีคำสั่งให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางวัฒนธรรมจังหวัดลำปางตรวจสอบและรายงานเรื่องดังกล่าวให้ตนทราบแล้ว แต่เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งเดือนยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปตรวจสอบภายในมณฑป ก็พบว่าองค์หลวงพ่อดำขณะนี้กลายเป็นสีทอง เนื่องจากมีประชาชนนำแผ่นทองไปปิดทับทั้งองค์มานาน แม้กระทั่งบริเวณนลาฏ (หน้าผาก) ก็มีแผ่นทองไปปิดทับไว้ และจากการตรวจสอบในเพจ “กิ่วลม-ชมลคอร” ซึ่งเผยแพร่ภาพถ่ายองค์หลวงพ่อดำไว้ ระบุว่าเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 จะเห็นว่าบริเวณนลาฏยังคงมีทับทิมประดับและนูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด


ขณะที่นายไทยเทพ อนุโมทนา หรือลุงทัศน์ อายุ 51 ปี ผู้ที่ดูแลบริเวณพื้นที่ศาลหลักเมืองและมณฑปหลวงพ่อดำ บอกว่า ตนและป้าอีกหนึ่งคนเป็นจิตอาสาที่คอยปัดกวาด ทำความสะอาดบริเวณนี้มานาน 22 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2542 สมัยที่ยังอยู่ในความดูแลของ อบจ.ลำปาง จนกระทั่ง อบจ.ย้ายไปอยู่ที่ อ.เกาะคา การดูแลจึงเป็นของเทศบาลนครลำปาง และด้วยที่ตนเองดูแลมานานเทศบาลฯ จึงไว้วางใจให้ดูแลต่อโดยไม่ได้ให้เงินเดือนและไม่ได้เป็นพนักงานของเทศบาล แต่เปิดโอกาสให้นำดอกไม้ธูปเทียนมาจำหน่ายบริเวณศาลหลักเมืองเพื่อบริการลูกค้าแทน

โดยตนจะถือกุญแจเปิดประตูมณฑปไว้ 2 ลูก และนำเก็บไว้ที่กองช่างเทศบาลนครลำปาง 1 ลูก แต่ตนจะเป็นคนเปิด-ปิดประตูมณฑปหลวงพ่อดำในเวลาประมาณ 07.00-15.30 น. ส่วนศาลหลักเมืองจะเปิดหลังจากทำความสะอาดหลวงพ่อดำเสร็จ ซึ่งก็เป็นเวลาไล่เลี่ยกัน และปิด 16.30 น.

นายไทยเทพ หรือลุงทัศน์ กล่าวว่า ทราบเรื่องทับทิมบนนลาฏหลวงพ่อดำหายไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ซึ่งวันนั้นตนขายดอกไม้เสร็จประมาณเที่ยงวัน จึงออกจากศาลหลักเมืองไปเยี่ยมป้าอีกคนที่ช่วยกันดูแลศาลหลักเมืองเนื่องจากไม่ได้มาทำงาน และกลับเข้ามาประมาณบ่ายโมงครึ่ง

“ตอนนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งผมจำได้ เพราะจะมาไหว้ศาลหลักเมืองและหลวงพ่อดำประจำ ได้เข้าไปกราบหลวงพ่อดำเสร็จก็มาถามผมว่าเม็ดทับทิมที่ติดหน้าผากหลวงพ่อดำหายไปไหน ซึ่งผมก็บอกว่าไม่ทราบ จากนั้นผู้หญิงคนดังกล่าวก็ถามว่าแล้วจะไปแจ้งที่ไหน ด้วยความกลัวและตกใจผมจึงบอกว่าไม่ต้องแจ้งก็ได้ แต่หากจะแจ้งก็ไปแจ้งที่เทศบาลฯ แต่ก็พูดเบาๆ ไม่ทราบว่าจะได้ยินไหม หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้บอกใครอีกเลยเพราะกลัวจะถูกไล่ออกเพราะบกพร่องในหน้าที่”

จนกระทั่งผู้ว่าฯ ลำปางทราบเรื่อง จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งจากกองกำกับการสืบสวนจังหวัด ตำรวจ สภ.เมืองลำปาง และเจ้าหน้าที่จากจังหวัดลำปาง เข้ามาสอบถามข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งตนคิดว่าทับทิมไม่ได้หลุดลงมาเองนอกจากจะมีคนแกะออกไปแน่นอน

“ใครที่เอาไปหากมีสำนึกรู้จักบาปบุญคุณโทษก็อยากให้เอามาคืนด้วย เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานไว้ นอกจากนี้อยากให้หน่วยงานติดกล้องวงจรปิดให้ทั่วบริเวณทั้งด้านในและด้านนอก เพราะหากเกิดอะไรขึ้นจะได้ตรวจสอบได้ โดยขณะนี้มีกล้องติดตั้งไว้หน้าประตูทางเข้ามณฑปหลวงพ่อดำ ที่ตำรวจนำมาติดตั้งเมื่อเดือน พ.ย. 63 ซึ่งก็หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ไปแล้วเพียงตัวเดียวเท่านั้น”

จากการสอบถามแหล่งข่าวหลายคนให้ข้อมูลว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงโยนความรับผิดชอบกันไปมา ว่าจริงๆ แล้วหน่วยงานไหนเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบองค์หลวงพ่อดำกันแน่


ทั้งนี้ พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ (พระพุทธรูปสี่มุมเมือง) สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบ โลหะหล่อสำริด หน้าตักกว้าง 49 นิ้ว พระพักตร์แจ่มใส พระเนตรเปิด พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย และบนนลาฏจะประดับด้วยเม็ดทับทิมสีแดง 1 เม็ด และด้วยทั้งองค์เป็นสีดำ ชาวลำปางจึงเรียกว่า “หลวงพ่อดำ” เป็นพระพุทธรูปปกบ้านป้องเมือง หรือพระอารามที่มีมหิทธานุภาพล้ำลึกปกป้องภยันตรายจากอริราชศัตรู ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายอัปมงคล เสริมดวงชะตาเมือง ตลอดทั้งคุ้มครองอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่ร่มเย็น ตามตำราพุทธไชยปราการที่สืบทอดมาแต่โบราณ

เมื่อปี 2511 สถานการณ์บ้านเมืองมีภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ มีผู้คิดร้ายที่กระจายอยู่กว้างขวางรอบทิศที่มุ่งครอบครองประเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มีพระราชหฤทัยปรารถนาแรงกล้าให้บ้านเมืองผ่านพ้นภัยพิบัติ พลเมืองดำรงชีวิตเป็นสุขราบรื่น ตั้งมั่นอยู่ในธรรมไม่หลงเป็นเครื่องมือความขัดแย้ง หลีกเลี่ยงต่อสู้ประหัตประหารกันเอง

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อ “พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พุทธศักราช 2511 ซึ่งประมวลคุณวิเศษอันเอกอุที่บุรพมหากษัตริย์ทรงปกป้องภัยบ้านเมืองและพสกนิกรในอดีตมารวมไว้ กรมการรักษาดินแดน กองทัพบก กระทรวงกลาโหม เป็นผู้จัดสร้าง

ซึ่งกรมการรักษาดินแดนคือหน่วยปกป้องรักษาบ้านเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนา ทรงมีพระพุทธนิรโรคันตราย ความหมายว่า “การปราศจากภยันตรายทั้งปวง” เป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาล เมื่อรวมพลังแห่งพระพุทธชัยวัฒน์แล้ว พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ย่อมบริบูรณ์แก่การปกปักรักษาบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ในแผ่นดินทั้งสี่ทิศให้รุ่งเรืองเป็นที่สุด

วันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2511 พระราชทานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต อัญเชิญไปประดิษฐานคุ้มครองแผ่นดินในทิศทั้งสี่ตามพระราชปณิธานสืบไป
องค์ที่ 1 ประจำทิศเหนือ ประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมืองจังหวัดลำปาง
องค์ที่ 2 ประจำทิศใต้ ประดิษฐานภายในศาลาจัตุรมุขหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง
องค์ที่ 3 ประจำทิศตะวันออก ประดิษฐานในศาลาจัตุรมุข วัดศาลาแดง ถนนพิชัยรณรงค์สงคราม ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดสระบุรี
องค์ 4 ประจำทิศตะวันตก ประดิษฐานในวิหารบนเขาแก่นจันทร์ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น