xs
xsm
sm
md
lg

สุดอันซีน! เผยภาพ “พระมหามัยมุนี” องค์แท้จริง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแห่งเมียนมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแห่งเมียนมา
เพจไหว้พระเมืองพม่า เผยภาพองค์แท้จริงของพระมหามัยมุนีจากภาพสแกนของนักวิชาการ และภาพหาชมยากของพระมหามัยมุนีในอดีตที่ยังไม่มีทองปิดองค์พระมากนัก

เพจ “ไหว้พระเมืองพม่า” เผยภาพหาชมยากของ “พระมหามัยมุนี” ในอดีตที่ยังไม่มีทองปิดองค์พระมากนัก จึงมองเห็นพระพักตร์สรีระขององค์ได้ชัดเจนกว่าปัจจุบันที่มีทองปิดทับองค์พระมากมาย จนบิดบังพุทธสรีระเดิมขององค์พระ

นอกจากนี้ยังมีภาพที่สันนิษฐานว่าเป็นองค์แท้จริงของพระมหามัยมุนีที่วันนี้ถูกทองปิดทับบดบัง จากการสแกนของนักวิชาการ ถือเป็นอีกหนึ่งภาพสุดอันซีนของพระพุทธรูปสุดศักดิ์สิทธิ์เลื่องชื่อของนี้

ภาพเก่าพระมหามัยมุนี (ภาพ : เพจ ไหว้พระเมืองพม่า)
พระมหามัยมุนี เป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริด ปางมารวิชัยทรงเครื่อง หน้าตักกว้าง 9 ฟุต สูง 12 ฟุต ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ “วัดมหามัยมุนี” เมืองมัณฑะเลย์

พระมหามัยมุนีสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 688 โดยพระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ชาวยะไข่แห่งเมืองธรรมวดี แคว้นยะไข่

ภาพเก่าพระมหามัยมุนี (ภาพ : เพจ ไหว้พระเมืองพม่า)
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความงดงามวิจิตร พระมหามัยมุนีจึงเป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่าในหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่มีผู้ใดสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ออกมาจากเมืองยะไข่ได้ จนกระทั่งในสมัย “พระเจ้าปดุง” ถึงสามารถอัญเชิญพระมหามัยมุนีข้ามแม่น้ำอิรวดีมาประทับที่มัณฑะเลย์ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2327

ภาพเก่าพระมหามัยมุนี (ภาพ : เพจ ไหว้พระเมืองพม่า)
ปัจจุบันพระมหามัยมุนีเป็นหนึ่งใน “เบญจมหาบูชาสถาน” หรือ 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุดของประเทศเมียนมา (พม่า) ซึ่งได้แก่ 1. เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง 2. พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจก์โถ่ 3. เจดีย์ชเวมอดอร์ (เจดีย์มุเตา) เมืองหงสาวดี 4. เจดีย์ชเวซิกอง เมืองพุกาม

และ 5. พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเพียงหนึ่งเดียวในเบญจมหาบูชาสถาน พระมหามัยมุนีจึงได้รับการยกย่องให้เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของเมียนมา

ภาพเก่าพระมหามัยมุนี (ภาพ : เพจ ไหว้พระเมืองพม่า)
พระมหามัยมุนีได้ชื่อว่าเป็น “พระพุทธรูปมีชีวิต” เพราะชาวพม่าเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้มาประทานลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในพระวรกายของพระพุทธรูปองค์นี้

ดังนั้นจึงต้องจัดพิธีล้างหน้า แปรงฟัน เหมือนกับคนเราให้ในทุกๆ เช้าของทุกวัน เรียกว่า “พิธีล้างพระพักตร์” ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดประมาณตีสาม 45 นาที ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนชาวพม่าและนักท่องเที่ยวที่ไปเฝ้ารอชมและขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้กันอย่างคับคั่ง

พิธีล้างพระพักตร์ พระมหามัยมุนี
นอกจากนี้พระพักตร์หรือใบหน้าของพระมหามัยมุนีที่เป็นส่วนเดียวขององค์พระที่ห้ามปิดทองนั้น มีความน่าอัศจรรย์ตรงที่ พระพักตร์ของท่านในแต่ละยุคสมัยจะดูเปลี่ยนไปตามรูปทรงของทองที่ปิดพระวรกาย โดยที่วัดมหามัยมุนีได้มีรูปภาพแสดงองค์พระมหามัยมุนีให้แต่ละยุคให้พิสูจน์

พระมหามัยมุนียังได้รับฉายาเรียกขานว่า เป็น “พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม” หรือ “พระเจ้าเนื้อนิ่ม” อันลือลั่น อันเนื่องมาจากแรงศรัทธาของมหาชนที่เดินทางมาปิดทองกันเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน มีการปิดทับซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ทองคำเปลวที่องค์พระพอกพูนมหาศาลจนพระวรกายอวบอ้วนมีตะปุ่มตะป่ำทั่วไปหมดทั้งด้านหน้าด้านหลัง เมื่อกดลงไปจะเป็นเนื้อทองที่นุ่มนิ่มมือ สมชื่อพระเจ้าเนื้อนิ่ม

ภาพเก่าพระมหามัยมุนี (ภาพ : เพจ ไหว้พระเมืองพม่า)
นับจากอดีตถึงปัจจุบัน ชาวพม่ายกให้พระมหามัยมุนีเป็นดังตัวแทนของพระพุทธองค์ที่มีชีวิตจิตใจ ใครที่มากราบไหว้บูชาจะได้รับศรัทธาอันสูงล้ำ ซึ่งหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย สถานการณ์การเมืองในเมียนมากลับเข้าสู่สภาวะปกติ มีการเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้าท่องเที่ยว พระมหามัยมุนีถือเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้มีจิตศรัทธาชาวไทยไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ภาพพระมหามัยมุนี องค์แท้จริงจากภาพสแกนของนักวิชาการ  (ภาพ : เพจ ไหว้พระเมืองพม่า)






กำลังโหลดความคิดเห็น