สมุทรสาคร - กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เร่งตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้ที่พักอาศัยอยู่ภายในตลาดกลางกุ้ง ส่วนสภาพจิตใจชาวตลาดกลางกุ้งเริ่มดีขึ้น
วันนี้ (8 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงพื้นที่เพื่อการกลับมาเปิดตลาดในช่วงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าหากผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเรื่องความสะอาดปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 16 คน ได้ร่วมกันจัดตั้งจุดตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้ที่พักอาศัยอยู่ภายในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งในส่วนของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อเลย
ดร.วริษฐา แสวงดี นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ด้วยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีโครงการที่จะศึกษาปัจจัยทางภูมิคุ้มกันและพันธุกรรมของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการแสดงออกของโรคแตกต่างกัน ทำให้บางคนมีอาการ บางคนไม่มีอาการ บางคนอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล โดยเราตั้งสมมติฐานไว้ว่า น่าจะมีปัจจัยบางอย่างในร่างกายของตัวมนุษย์เองที่ส่งผลให้เกิดการแสดงออกของโรคไม่เหมือนกัน
ซึ่งวันนี้มาเก็บเลือดเพื่อไปตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคยติดเชื้อมาเมื่อประมาณต้นเดือน ม.ค.64 รวมถึงผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อแล้วยังไม่เคยพบว่าป่วยด้วยอาการโควิด-19 เลย ซึ่งเวลาที่ผ่านมา 1 เดือนแล้ว มีการคาดการณ์ว่า ถ้าเคยได้รับเชื้อมาแล้วควรจะต้องมีแอนติบอดี้ต่อเชื้อแล้วในระยะเวลานี้ แต่ไม่มีทางรู้ว่าเขามีทุกคนหรือไม่ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่เพราะฉะนั้นเราต้องมาทำการศึกษาเพื่อดูว่าในกลุ่มประชากรที่เป็นคลัสเตอร์เดียวกัน และกักตัวในที่เดียวกัน บางคนรับเชื้อ บางคนไม่ได้รับเชื้อ และบางคนอยู่ด้วยกันเป็นเดือน แต่ทำไมไม่ติดเชื้อเลย เราจะนำไปศึกษาตรงส่วนนั้นเพราะมันเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะว่าโรคนี้สามารถแพร่ได้ง่ายมาก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะตรวจประมาณ 1,990 คน โดยจะใช้เวลาตรวจ 3 วัน และถ้าเราตรวจแล้วพบว่าผู้ที่ถูกตรวจมีแอนติบอดี้ประมาณ 60-70% ก็สามารถช่วยลดการแพร่เชื้อของโรคได้ รวมถึงข้อมูลตรงนี้สนับสนุนในการวางแผนในการจัดการเกี่ยวกับโรคนี้ในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดียวกันได้อีกด้วย
ทางด้านนายมานะ เปาทุย สาธารณสุขอำเภอเมืองสมุทรสาคร ผู้ที่อยู่ดูแลตลาดกลางกุ้งมาตั้งแต่เริ่มประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 จนกระทั่งมีการเปิดให้เข้าออกได้ เปิดเผยถึงสภาพจิตใจของกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่ถูกกักตัวในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาว่า ในช่วงแรกพวกเขารู้สึกมีความกังวลหลายเรื่องทั้งเรื่องโรคภัยและเรื่องการไม่มีงานทำไม่มีรายได้ แต่หลังจากที่มีการผ่อนผันปลดล็อกตลาดกุ้ง ทำให้ทุกคนมีสภาพจิตใจดีขึ้นและมีความใส่ใจในเรื่องการดูแลสุขภาพและป้องกันตัวเองมากยิ่งขี้น ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ในนี้ก็เริ่มปรับปรุงพื้นที่เพื่อที่จะมาค้าขายต่อไป