MGR Online - รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ออกประกาศให้พื้นที่สองตำบล “ท่าทราย-นาดี” เฝ้าระวังและควบคุมโควิด-19 สูงสุดและเข้มงวด ห้ามแรงงานออกนอกเคหะสถาน-พื้นที่ควบคุม และให้เจ้าของโรงงานควบคุมอย่างเคร่งครัด พบเป็นกลยุทธ์ “บับเบิล แอนด์ ซีล” เหตุสองตำบลนี้หอพักอยู่นอกโรงงาน และมีบางแห่งติดเชื้อมากกว่า 10%
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. รายงานข่าวแจ้งว่า นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ออกประกาศจังหวัดสมุทรสาคร เรื่องมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
สาระสำคัญคือ ให้พื้นที่บางส่วนของตําบลนาดี และตําบลท่าทราย อําเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ภายในเขตเริ่มต้นจากวัดพันธุวงษ์ไปทางทิศตะวันออก ตามแนวถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ จนถึงปากซอย โรงเรียนบ้านบางปิ้ง จากปากซอยโรงเรียนบ้านบางปิ้ง ไปทางทิศใต้ตามแนวถนน จนถึงปากซอยหมู่บ้านกานดา ถนนพระรามที่ 2
จากปากซอยหมู่บ้านกานดา ถนนพระรามที่ 2 ไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนพระรามที่ 2 จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน และจากสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ไปทางทิศเหนือตามแนวแม่น้ำท่าจีน จนสิ้นสุดที่วัดพันธุวงษ์ เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ดังกล่าวปฏิบัติดังนี้
(1) ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุม เว้นแต่การเดินทางไปที่สถานที่ทํางานหรือกลับจากสถานที่ทํางาน หรือมีเหตุจําเป็นเร่งด่วน และหรือได้รับอนุญาต จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
(2) ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือสถานที่ชุมชนที่มีประชาชนหนาแน่น
(3) ให้ลูกจ้างของสถานประกอบการติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และ “DDC care” เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรคในห้วงระหว่างการควบคุม
(4) ให้ผู้ประกอบการกํากับดูแลให้แรงงานดําเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
(5) ให้เจ้าของร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือผู้ดูแลสถานที่ชุมชน ดําเนินมาตรการทางการสาธารณสุข เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จนเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จังหวัดสมุทรสาคร โดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร อาจจะพิจารณาสั่งปิดสถานที่ หรือสั่งหยุดการประกอบการที่เป็นเหตุแห่งการแพร่ของโรคติดต่อ อันตรายหรือโรคระบาดได้
(6) ให้เจ้าของหอพัก ห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ และสถานที่อื่นที่ให้เช่าพักอาศัย ดําเนินการตามมาตรการสาธารณสุข และควบคุม ตรวจตรา กําชับผู้พักอาศัย ให้ดําเนินการตามมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสอดส่องบุคคลภายนอกมิให้เข้ามาภายในบริเวณที่พักอาศัย
(7) ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กํากับ ดูแล และให้ข้อแนะนําแก่ผู้ประกอบการและแรงงานของสถานประกอบการ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโรคโควิด-19 จะคลี่คลายหรือมีประกาศเปลี่ยนแปลง
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับประกาศฉบับดังกล่าว สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร นับตั้งแต่การประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดกำเนิดผู้ป่วยรายแรกจากตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้จังหวัดสมุทรสาครออกมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมกับควบคุมโรคโดยการตรวจเชิงรุกตามโรงงานต่างๆ และมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่เรียกว่า “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีอาการเล็กน้อยและไม่แสดงอาการ ให้หายติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกัน
กระทั่งเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ออกปฏิบัติการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกทุกพื้นที่อย่างเข้มข้น ทั้งโรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ตลาด ชุมชน หอพักคนงาน กระทั่งพบจุดเสี่ยงสำคัญการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในโรงงานเป็นหลัก โดยมีสถานประกอบการเป้าหมาย 7 แห่ง พนักงานรวม 50,083 คน มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 10% จึงต้องใช้หลักการจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม เรียกว่า “บับเบิล แอนด์ ซีล” (Bubble and Seal) เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก
โดย Seal ใช้กับโรงงานที่พนักงานสามารถพักในโรงงานได้ ส่วน Bubble ใช้กับโรงงานที่พนักงานพักอยู่นอกโรงงาน แต่พบว่าจากสถานประกอบการ 7 แห่ง มีเพียง 1 แห่ง ที่สามารถจัดพื้นที่ให้พนักงานพักอาศัยภายในโรงงานได้ แต่สถานประกอบการที่เหลือ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ต.ท่าทราย และ ต.นาดี ไม่สามารถจัดพื้นที่ให้พนักงานพักอาศัยในโรงงานได้ เนื่องจากที่พักอยู่นอกโรงงานทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการออกประกาศดังกล่าว โดยห้ามลูกจ้างออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุม รวมทั้งห้ามเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือสถานที่ชุมชนที่มีประชาชนหนาแน่น
อนึ่ง จากการสำรวจผ่านทาง Google Maps พบว่ามีโรงงานที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวดหลายแห่ง บริเวณถนนเศรษฐกิจ 1 ย่านคลองครุ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตอาหารทะเลแปรรูป มีพนักงานตั้งแต่นับพันถึงนับหมื่นคน นอกจากนี้ยังมีห้างค้าปลีกอีก 2 แห่ง ศูนย์การค้า 1 แห่ง หมู่บ้านจัดสรร ชุมชน และหอพักคนงานอีกจำนวนมาก ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งนับจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องควบคุมและกำหนดเส้นทาง ที่พักอาศัยในกลุ่มพนักงาน เพื่อป้องกันเชื้อแพร่ออกมาสู่ชุมชนภายนอก พร้อมกันนี้จะมีฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมควบคุมพื้นที่ตามแผนอีกด้วย
อนึ่ง การกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวดในสองตำบลในจังหวัดสมุทรสาครดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับมาตรการคลายล็อกของรัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้มเพียงจังหวัดเดียว