xs
xsm
sm
md
lg

คนเลี้ยงหมูจับมือเพิ่มซัปพลาย รวมใจป้อง ASF เข้มแข็ง เตือนอย่าหลงเชื่อวัคซีนเถื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเร่งแก้ปัญหาปริมาณสุกรไม่เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ภาคเหนือ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือจากสมาคมและผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ร่วมกับสมาชิกสมาคมฯ และบริษัทผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ ในการเร่งปรับซัปพลายและช่วยจัดหาชิ้นส่วนเนื้อหมูชำแหละและหมูขุนมีชีวิตเพื่อส่งขึ้นไปจำหน่ายแก่พี่น้องชาวเหนือ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ถือเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งอีกครั้งของชาวหมูในการแก้ปัญหาในวงการและการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

นับจากการให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการตรึงราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม นับตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ขณะที่ช่องทางห้างค้าปลีกรายใหญ่ยังคงเป็นช่องทางของผู้บริโภคที่กระจายทั่วไทยแทบจะทุกตำบล และยังคงราคาหมูเนื้อแดงไว้ที่ 150-160 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงราคาจำหน่ายปลีกเนื้อหมูชิ้นส่วนอื่นๆ จนสามารถบรรเทาภาระของผู้บริโภคมาได้ กระทั่งเกิดการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่

ที่สำคัญ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรในแต่ละภูมิภาคยังคงติดตาม ซัปพลายหมูเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศเป็นอันดับแรกก่อนเสมอ

ส่วนต้นตอของปัญหานี้ เป็นผลพวงมาจากการหยุดเลี้ยงหมูของเกษตรกรในภาคเหนือ ที่วิตกกังวลเกี่ยวกับโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ที่มีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทย ทั้งเมียนมา และลาว ทำให้เกษตรกรไทยตัดสินใจลดความเสี่ยงในอาชีพโดยชะลอการเลี้ยงหมูออกไปก่อน หรือบางรายก็เข้าเลี้ยงหมูบางลงไม่เต็มกำลังการผลิตเหมือนภาวะปกติ

ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศต่างบริหารความเสี่ยงโดยการลดการผลิตของตนเองลงมา โดยเน้นเลี้ยงในฟาร์มที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในระดับสูงสุด จากที่เคยป้องกันเข้มข้นอยู่แล้ว ยิ่งต้องยกระดับให้แน่นหนากว่าเดิม แม้ว่าจะต้องมีต้นทุนการป้องกันโรคสูงถึง 300 บาทต่อตัวก็ตาม ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงปัจจุบันอยู่ที่ 75 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรก็ยินดีรับภาระนี้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหมูไม่ให้ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ และป้องกันผู้บริโภคไม่ให้รับภาระจากราคาหมู เหมือนในหลายประเทศที่พบการระบาดจนราคาหมูสูงขึ้นถึง 2-3%

เพราะถึงแม้ ASF จะมีการระบาดเฉพาะในหมู ไม่ติดต่อในคนก็ตาม แต่ถือเป็นโรคร้ายแรงในหมู เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนใช้ป้องกันและยารักษาที่เฉพาะเจาะจง หากฟาร์มไหนเป็นโรคนี้แล้วย่อมเกิดความเสียหาย 100% กระทบความมั่นคงด้านอาหารของประเทศที่พบการระบาด ซึ่งในปัจจุบันมีถึง 34 ประเทศที่เผชิญหน้ากับโรคนี้ รวมถึงหลายประเทศในเอเชีย ทั้งจีน เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และลาว

ด้วยช่องว่างนี้ ทำให้เกษตรกรในบางประเทศพยายามป้องกันฝูงสัตว์ของตนเอง โดยการลักลอบใช้วัคซีนเชื้อเป็นที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ หรือวัคซีนเถื่อน เพราะคาดหวังว่าจะสามารถป้องกันโรคนี้ได้ แต่ผลกลับพบว่าหมูที่ฉีดวัคซีนชนิดนี้จะป่วยโทรม แสดงอาการของโรค ASF ตามมา ทำให้ยากต่อการควบคุม

ดังนั้น ผู้เลี้ยงชาวไทยต้องไม่หลงเชื่อ นำวัคซีนที่ผิดกฎหมายมาใช้ในฟาร์ม ซึ่งอาจส่งผลให้หมูติดเชื้อไวรัสจากวัคซีน และทำให้เกิดการระบาดของโรคในประเทศในวงกว้าง ถือเป็นการทำลายมาตรการป้องกันขั้นสูงที่ทุกภาคส่วนพยายามดำเนินการอย่างเข้มแข็งมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ทุกคนต้องจับมือกันให้เข้มแข็งขึ้น การ์ดอย่าตก เพื่อป้องกันทั้งอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู และผู้บริโภคชาวไทยไม่ให้ต้องเผชิญหน้ากับ ASF ได้อย่างเด็ดขาด


กำลังโหลดความคิดเห็น