xs
xsm
sm
md
lg

แลนด์มาร์กใหม่! หนุ่มแม่ริมเนรมิตทุ่งนาข้าว 7 สีสุดสวยทั้งท่องเที่ยวและเก็บเกี่ยวกินได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - หนุ่มแม่ริมเนรมิตที่นาของพ่อแม่เป็นทุ่งข้าว 7 สายพันธุ์ 7 สีสุดสวย จนกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ นักท่องเที่ยวเข้าชมไม่ขาดสาย เผยเก็บเกี่ยวกินได้จริงแถมมากมายคุณประโยชน์ หวังต่อยอดเป็นทางเลือกให้ชาวนาในพื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว


รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ขณะนี้นาข้าวหลากหลายสีสันสวยงามราวกับนำผืนพรมสีต่างๆ มาปูเรียงอยู่บนท้องทุ่งในพื้นที่บ้านซาง ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กำลังเป็นแลนด์มาร์คและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักท่องเที่ยว ที่พากันเข้าเที่ยวชมและเรียนรู้เกี่ยวสายพันธุ์ข้าวที่ปลูกอยู่อย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยนาข้าวแห่งนี้คือ แปลงนาข้าวสรรพสี “Rainbow Rice บ้านซาง” ซึ่งเป็นแปลงทดลองการปลูกข้าวของว่าที่ร้อยตรีธเนศ แซวหลี นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการสังกัดศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน


โดยนำงานวิจัยของ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ในปี พุทธศักราช 2553 ที่ผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์พ่อ “ข้าวเจ้าหอมนิลพันธุ์กลายใบขาว” กับพันธุ์แม่ “ข้าวก่ำหอมนิล” ทำให้ได้ข้าวสรรพสี 5 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ใบสีชมพูทับทิมต้นสูง, ใบสีชมพูทับทิมต้นเตี้ย, ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นสูง, ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นเตี้ย และใบสีขาว มาทดลองปลูก สลับกันในแปลง ร่วมกับข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 และข้าวพันธุ์ IRRI ของสถาบันวิจัยข้าวต่างประเทศ รวมเป็นทั้งหมด 7 สายพันธุ์ และมี 7 สีสันสวยงามบนแปลงนาข้าว


ทั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธเนศบอกว่า ทดลองปลูกเป็นปีแรกบนพื้นที่ 2 งาน ของครอบครัวที่พ่อแม่เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว และเมื่อมีการแชร์ออกไปในโซเชียลมีเดีย ทำให้ Rainbow Rice บ้านซาง แห่งนี้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แต่ละวันมีประชาชนเดินทางมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งที่มาของแปลงนาข้าวสรรพสีเนื่องจากทราบประสบการณ์การทำงานทำให้ทราบว่านอกจากจะปลูกพืชผักให้เป็นสีสันสวยงามได้แล้ว สีของผักแต่ละชนิดยังบ่งบอกถึงคุณประโยชน์ของผักที่มีอยู่มากมายด้วย เช่น ผักผลไม้ที่มีสีม่วงจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidant ที่ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง


สำหรับวิธีการปลูกข้าวสรรพสีนั้นใช้วิธีทำนากึ่งอินทรีย์ โดยใช้สาร พด.ชนิดต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเตรียมดินจะไม่เผาตอซัง แต่จะไถกลบเพื่อย่อยสลายทำเป็นปุ๋ย รวมไปถึงการใช้ปุ๋ย และการปราบแมลงศัตรูพืชก็พึ่งพาสาร พด. ของกรมพัฒนาที่ดินทั้งหมด ซึ่งวิธีการทำนาแบบนี้สามารถช่วยลดต้นทุนการทำนาได้ถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการทำนาแบบดั้งเดิมที่ใช้สารเคมี

แต่เนื่องด้วยข้าวสรรพสีที่ปลูกนี้มีลักษณะเมล็ดข้าวที่แข็งกว่าข้าวทั่วไป จึงต้องมีการนำเมล็ดข้าวไปแปรรูปเป็นแป้ง ใช้ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว มีการนำใบข้าว มาแปรรูปเป็นอาหารเสริมต่างๆ อาทิ ชาใบข้าวสีม่วงซึ่งมีสารแอนโทไซยานิน รวมไปถึงการต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า ซึ่งในพื้นที่อำเภอแม่ริมมีแหล่งปลูกหญ้าแฝกและนำมาแปรรูปเป็นกระเป๋าสาน จึงจะมีการต่อยอดนำใบข้าวสรรพสีที่มีสีสันต่างๆ ไปสานเป็นกระเป๋าเพื่อเพิ่มความสวยงาม และจะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่อไป


นอกจากนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธเนศบอกว่า สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ริมได้เข้ามาดูงานแล้วและมีความคิดร่วมกันในการต่อยอดแปลงนาสรรพสีดังกล่าวให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่นเดียวกับสวนดอกไม้หลายสีในพื้นที่ตำบลข้างเคียงที่กำลังโด่งดัง ซึ่งมุ่งหวังจะพัฒนาต่อยอด ช่วยให้ชาวนาในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น แก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ การหันมาปลูกข้าวสรรพสีเพื่อสร้างความแตกต่าง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้ โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีความเป็นไปได้สูง โดย “Rainbow Rice บ้านซาง” นี้จะเปิดให้ชมไปจนถึงเดือนมีนาคมที่เป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยว






กำลังโหลดความคิดเห็น