ศูนย์ข่าวขอนแก่น-น้ำโขงวิกฤตซ้ำซาก ล่าสุด “ไก”หรือสาหร่ายในน้ำโขงแห้งตายเกลื่อนแทบตลอดลำน้ำ เหตุจีนลดปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจิงหงที่กั้นแม่น้ำโขงในเขตของจีน ทั้งเจอเขื่อนไซยะบุรีในลาวกักน้ำซ้ำอีก เรียกร้องให้จีนรับผิดชอบความหายนะที่เกิดขึ้น แนะการพัฒนาลุ่มน้ำโขงให้ยั่งยืนต้องหยุดแผนโครงการสร้างเขื่อนทั้งในจีนและในกลุ่มประเทศน้ำโขงทั้งหมด
เป็นน่าสนใจอย่างยิ่ง กรณีที่ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส)ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นภาพปรากฏการณ์ “ไก”หรือสาหร่ายน้ำจืดแห้งและตายเกลื่อนในลำน้ำโขง ณ จุดบริเวณบ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย โดย ผศ.ดร.ไชยณรงค์ระบุว่าสาเหตุทำให้ไกตายเพราะแม่น้ำโขงแห้งขอด เป็นวิกฤตที่น่าวิตกอย่างมาก
เพราะไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขงคือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศแม่น้ำโขง โดยไกมีสองชนิดคือแบบแข็งและแบบอ่อนที่เรียกว่าเทา สามารถบริโภคได้ และไกเหล่านี้เป็นที่วางไข่ของปลาหลายชนิด รวมทั้งเป็นอาหารของปลากินพืชด้วย
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ผู้สอนสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคม มมส อธิบายเพิ่มเติมว่า หากไกตายมากมายขนาดนี้ ปลาน้ำโขงหลายชนิดจะไม่มีที่วางไข่และไม่มีอาหาร ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงในระยะยาว เนื่องจากเป็นการตัดห่วงโซ่อาหาร การที่น้ำโขงลด ทำให้ไกตายและเมื่อน้ำขึ้นๆ ลงๆ ทำให้ไกที่ตายลอยไปทั่วลำน้ำ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับความเดือดร้อน เพราะไกไปติดเครื่องมือประมง เช่น แห มอง (หรืออวน) ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านเดือดร้อนอย่างหนักจากการใช้เครื่องมือประมงไม่ได้
ส่วนต้นตอที่ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงแห้งนั้น มาจาก 2 แรงบวก ประการแรก เกิดจากที่จีนลดการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจิงหงที่กั้นแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศจีนเพื่อซ่อมบำรุงระบบสายส่ง โดยน้ำลดประมาณ 50% เขื่อนจิงหงคือเขื่อนที่ตั้งอยู่ตอนล่างสุดของ 11 เขื่อน ที่จีนสร้างกั้นแม่น้ำโขง ผลกระทบที่เกิดจากการที่จีนลดการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจะกระทบต่อลุ่มน้ำโขงท้ายเขื่อนจิงหง มาจนจึงเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น ในจังหวัดเชียงรายของไทย แขวงหลวงน้ำทา บ่อแก้ว ไล่ลงมาจนถึงแขวงหลวงพระบางของลาว
ประการที่สอง ท้ายเขื่อนจิงหงลงมาลงก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลผ่านบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในภาคอีสาน ยังมีเขื่อนไซยะบุรีอีกแห่ง ซึ่งเขื่อนแห่งนี้กลุ่มทุนไทยได้เข้าไปสร้าง และหลังจากสร้างเขื่อนแล้ว ปรากฏว่าน้ำโขงท้ายเขื่อนไซยะบุรี บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ไปจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม น้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้ปลาหลงฤดู และการเกิดภาวะน้ำโขงสีฟ้าราวกับน้ำทะเล เนื่องจากเกิดภาวะหิวตะกอน (hungry water)
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ ระบุว่าการจะแก้ปัญหานี้ได้ ก็ต้องเรียกร้องให้จีนอธิบายและรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะจีนอ้างมาตลอดว่าการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนก็เพื่อประโยชน์ของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่จีนเรียกว่าครอบครัวเดียวกัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวก็ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีโดยเร่งด่วน โดยการกำหนดให้เขื่อนไซยะบุรีปล่อยน้ำให้ไหลออกมาตามตามธรรมชาติโดยด่วน ก่อนที่แม่น้ำโขงจะหายนะไปมากกว่านี้
รัฐบาลไทยและรัฐบาลในลุ่มน้ำโขงรวมถึงจีนต้องตระหนักว่าแม่น้ำโขงคือแม่น้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยได้ชื่อว่าราชาแห่งสายน้ำเนื่องจากมีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำเกือบ 1,000 สายพันธุ์ และยังมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำอย่างอื่น รวมถึงพืชน้ำ ที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ เศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารของผู้คนกว่า 60 ล้านคนมนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
ดังนั้น รัฐบาลในประเทศลุ่มน้ำโขงจะต้องพัฒนาลุ่มน้ำโขงโดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแก้ไขปัญหาเขื่อนที่สร้างไปแล้วให้ได้และยุติโครงการเขื่อนที่มีแผนจะสร้างทั้งในประเทศจีน เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนสานะคาม และเขื่อนลาดเสือในประเทศลาว เขื่อนปากชมและเขื่อนบ้านกุ่ม บริเวณพรมแดนไทย-ลาว รวมถึงเขื่อนสตึงเตร็งและซัมบอร์ในกัมพูชา
ที่สำคัญก็คือ ประชาชนในลุ่มน้ำโขงควรร่วมมือกันกดดันให้รัฐบาลในประเทศลุ่มน้ำโขงมีการออกกฎหมายที่กำหนดให้การทำธุรกิจพลังงานของทุนต้องยึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และเคารพต่อสิทธิของคนเล็กคนน้อยริมฝั่งโขงที่ต้องแบกรับภาระผลกระทบจากการเขื่อนของกลุ่มทุนพลังงาน
ขอบคุณภาพไกตายจากคุณสมาน แก้วพวง