หนองคาย - น้ำโขงที่ไหลผ่านหนองคายระดับน้ำลดลงต่อเนื่องจนเกิดสันดอนและตะไคร่น้ำขึ้นเกาะเขียว ชาวบ้านจับปลาได้ยากขึ้น แม้แต่ปลาเลี้ยงในกระชังก็ได้รับผลกระทบ เผยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจีนลดการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน และเขื่อนไซยะบุรีในเขตลาวก็กักน้ำไว้ทำให้ระบบนิเวศในลำน้ำโขงพังพินาศ
วันนี้ (26 ม.ค. ) ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ วัดได้ 1.44 เมตร ซึ่งปริมาณน้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 0.22 เมตร และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่มีฝนตกและปริมาณน้ำโขงไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
โดยเฉพาะน้ำโขงบริเวณตำบลเมืองหมี อ.เมืองหนองคาย น้ำโขงได้ลดลงจนเห็นสันดอน และโขดหินในแม่น้ำโขงเกิดตะไคร่น้ำสีเขียวเกาะตามโขดหินอยู่เกลื่อนไปหมด ทำให้น้ำที่มีน้อยอยู่แล้วไหลช้า ซึ่งตามปกติแล้วน้ำโขงจะมีสีขุ่นแดงเป็นสีอิฐอีกทั้งไหลแรง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงมาก่อน นับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนในประเทศจีนและประเทศลาวระดับน้ำโขงก็เปลี่ยนแปลงไป กระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขง
ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเมืองหมีได้ออกหาปลาโดยการหว่านแห ต่างบอกว่าช่วงนี้มีอุปสรรคในการจับปลา น้ำโขงลด โขดหินเกิดขึ้น เมื่อหว่านแหลงไปในน้ำก็จะเกิดปัญหาแหติดโขดหิน และจับปลาไม่ค่อยได้ ปลาลดจำนวนลงและจับได้ยากขึ้น ประกอบกับส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปลานิลกระชังเช่นกัน เพราะเศษตะไคร่น้ำจะไปเกาะกับกระชังจนคล้ายน้ำนิ่ง ปลาที่เลี้ยงตายได้ง่ายขึ้น
ชาวบ้านบอกว่าปีนี้น้ำโขงผิดปกติ หลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าน้ำโขงจะลดลงแต่ในวันถัดไปก็จะมีน้ำโขงขยับเพิ่มขึ้นเหมือนเป็นการปรับสมดุล แต่ปีนี้ระดับน้ำมีแต่ลดลงอย่างเดียว ดังนั้นน้ำโขงน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก
รายงานเพิ่มเติมระบุว่า ปรากฏการณ์ตะไคร่น้ำ ไกหรือสาหร่ายน้ำจืดแห้งตายเพราะน้ำโขงแห้งขอดที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ผู้สอนสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคม มมส ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กก่อนหน้านี้ด้วยความเป็นห่วงผลกระทบระบบนิเวศที่จะเกิดขึ้นกับลำน้ำโขง เพราะปลาน้ำโขงหลายชนิดจะไม่มีที่วางไข่และไม่มีอาหาร ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงในระยะยาว
เนื่องจากเป็นการตัดห่วงโซ่อาหาร ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับความเดือดร้อนเพราะไกไปติดเครื่องมือประมง เช่น แห มอง (หรืออวน) ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านเดือดร้อนอย่างหนักจากการใช้เครื่องมือประมงไม่ได้
ส่วนต้นตอที่ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงแห้งนั้นมาจาก 2 แรงบวก ประการแรก เกิดจากที่จีนลดการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจิ่งหงที่กั้นแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศจีนเพื่อซ่อมบำรุงระบบสายส่ง โดยน้ำลดประมาณ 50% เขื่อนจิ่งหงคือเขื่อนที่ตั้งอยู่ตอนล่างสุดของ 11 เขื่อนที่จีนสร้างกั้นแม่น้ำโขง ผลกระทบที่เกิดจากการที่จีนลดการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจะกระทบต่อลุ่มน้ำโขงท้ายเขื่อนจิ่งหง มาจนจึงเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น ในจังหวัดเชียงรายของไทย แขวงหลวงน้ำทา บ่อแก้ว ไล่ลงมาจนถึงแขวงหลวงพระบางของลาว
ประการที่สอง ท้ายเขื่อนจิ่งหงลงมาก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลผ่านบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในภาคอีสาน ยังมีเขื่อนไซยะบุรีอีกแห่ง ซึ่งเขื่อนแห่งนี้กลุ่มทุนไทยได้เข้าไปสร้าง และหลังจากสร้างเขื่อนแล้ว ปรากฏว่าน้ำโขงท้ายเขื่อนไซยะบุรี บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ไปจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม น้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้ปลาหลงฤดู และเกิดภาวะน้ำโขงสีฟ้าราวกับน้ำทะเลเนื่องจากเกิดภาวะหิวตะกอน (hungry water)
สำหรับการแก้ปัญหานั้น ผศ.ดร.ไชยณรงค์แนะนำว่าต้องเรียกร้องให้จีนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะจีนอ้างมาตลอดว่าการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนก็เพื่อประโยชน์ของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่จีนเรียกว่าครอบครัวเดียวกัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวก็ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีโดยเร่งด่วน โดยการกำหนดให้เขื่อนไซยะบุรีปล่อยน้ำให้ไหลออกมาตามธรรมชาติโดยด่วน ก่อนที่แม่น้ำโขงจะหายนะไปมากกว่านี้