นครพนม - เกษตรกรเลี้ยงปลากระชังริมแม่น้ำสงครามทุกข์หนัก บางรายถึงกับร่ำไห้ ปลาน็อกตายเกลื่อน รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท เผยแต่ละตัวหนัก 1-2 กิโลฯ เตรียมจับขายช่วงปีใหม่ แต่ฝันต้องสลายกลายเป็นหนี้สินแทนที่จะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ วอนรัฐเยียวยาด่วน
วันนี้ (2 ม.ค.) ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสงคราม บ้านหาดกวด หมู่ 13 ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม นายปิยะ อาจสัญจร ประมงอำเภอท่าอุเทน พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ได้รับร้องเรียนจากเกษตรกรเลี้ยงปลากระชังตามริมแม่น้ำสงครามว่าปลาน็อกน้ำตายเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพน้ำ รวมถึงอุณหภูมิในน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้ปลาในกระชังขาดออกซิเจน น็อกน้ำตาย
โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่บ้านหาดกวน หมู่ 13 ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก 2 ราย ปลานิลในกระชังที่เลี้ยงไว้ประมาณ 3- 5 เดือน น้ำหนักตัวละประมาณ 1-1.2 กิโลกรัม ลอยตายเต็มกระชัง น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 10 ตัน รวมมีปลานิลในกระชังลอยตายคิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท เนื่องจากมีราคาซื้อขายประมาณกิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่วนใหญ่เป็นปลานิลที่กำลังจะนำส่งขายสู่ตลาดช่วงเทศกาลปีใหม่ รอพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อ ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนหนัก บางรายถึงขั้นนั่งร้องไห้เนื่องจากต้องแบกภาระหนี้สินจากการลงทุน
ทั้งค่าหัวอาหาร ค่าวัสดุทำกระชัง ลงทุนรายละประมาณ 4-5 แสนบาท บางรายยังไม่ได้จ่ายค่าหัวอาหาร รอขายปลา แต่มาฝันสลายต้องนำปลาที่ตายไปทำปลาร้า และนำไปทำปุ๋ยหมักแทน
ด้าน นางสมดี บุญยะศรี อายุ 54 ปี หนึ่งในเกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง เปิดเผยว่า ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาอากาศเย็น อุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส และน้ำสงครามลด น้ำไม่ไหล ปลากระชัง ปลานิลตลอดลำน้ำสงครามในพื้นที่ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน เกิดน็อกน้ำลอยตายเพราะสภาพน้ำเปลี่ยนแปลง มีอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาปรับสภาพไม่ทันลอยตายหมดเกือบทุกกระชัง เฉพาะของตนน้ำหนักหลาย 6 ตัน ตายหมด
ปลารุ่นนี้มีขนาดใหญ่ กำลังจะส่งขายสู่ตลาดในช่วงเทศกาลปีใหม่ น้ำหนักประมาณตัวละ 1-1.2 กิโลกรัม รอส่งขายพ่อค้าแม่ค้ากิโลกรัมละประมาณ 50-60 บาท
ต้องขาดทุนหนัก บางรายลงทุนรายละ 3-4 แสนบาท หวังว่าจะขายปลาไปใช้หนี้เครดิตหัวอาหารมาเลี้ยงปลา สุดท้ายฝันสลาย เดือดร้อนหนัก ซ้ำเติมคนจนเข้าไปอีก ยิ่งเศรษฐกิจซบเซา ต้องขนเอาซากปลาตายไปทำปลาร้าบางส่วน บางส่วนมีคนมาช่วยรับซื้อไปทำปลาร้า กิโลกรัมละ 3 บาท
บางส่วนนำไปทำปุ๋ยหมักเพราะเน่าเสียหมดไม่สามารถนำไปขายตามปกติได้ วิงวอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลหาทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนที่ต้องแบกภาระหนี้สิน
ด้าน นายปิยะ อาจสัญจร ประมงอำเภอท่าอุเทน กล่าวว่า ปลากระชังที่ บ.หาดกวนตายเสียหาย เบื้องต้นสันนิษฐานว่ามาจากปัญหาสภาพน้ำสงครามเริ่มลด อากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ทั้งอุณหภูมิในน้ำ รวมถึงค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ ส่งผลให้ปลานิลในกระชังขาดออกซิเจนน็อกน้ำลอยตาย โดยได้แจ้งเตือนให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง
รวมถึงลดปริมาณปลานิลต่อกระชังให้น้อยลงเพื่อให้มีออกซิเจนเพียงพอ ส่วนการเยียวยาช่วยเหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
“วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น ผู้เลี้ยงต้องนำเครื่องเพิ่มออกซิเจนใส่ในทุกกระชัง หลังสำรวจพบแพลงก์ตอนพืชมีสีเขียวในน้ำก่อนดูดเอาออกซิเจนแย่งอากาศไปหมดในช่วงกลางคืนตั้งแต่ 18.00 น. ถ้าแดดไม่ส่องในช่วงกลางวันปลาก็ขาดอากาศโดยอัตโนมัติ อีกทั้งของเสียและกากอาหารขี้ปลาจำนวนมากไหลระบายไหลลงแม่น้ำโขงไม่ทัน จึงได้รับผลกระทบดังกล่าว” นายปิยะกล่าว