xs
xsm
sm
md
lg

คนอุทัยฯ ใจชื้น! สะแกกรังน้ำเริ่มไหลแม้ไม่พ้นวิกฤต เรือนแพพัง-ปลากระชังยังเลี้ยงใหม่ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทัยธานี - ชลประทานขอน้ำเหนือเพิ่ม สะแกกรังเริ่มมีน้ำไหลแม้ไม่พ้นวิกฤต เรือนแพยังค้างเติ่งบนดินท้องน้ำจนบวบพัง-ปลากระชังยังเลี้ยงใหม่ไม่ได้ ชาวแพบางรายต้องปลูกผักแก้ขัดชั่วคราว จ่อดันโครงการสร้างประตูระบายน้ำ 777 ล้าน


ความคืบหน้ากรณีแม่น้ำสะแกกรังแห้งขอดตลอดสาย จนถึงขั้นสามารถเดินข้ามฝั่งได้ในบางจุด ส่งผลให้ชาวเรือนแพอุทัยธานี และกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังต่างได้รับความเดือดร้อน ลูกบวบเรือนแพพังเสียหาย-เลี้ยงปลากระชังไม่ได้ตามปกติตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งในเช้าวันนี้ (5 ม.ค. 64) พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณเพิ่มขึ้นและอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บริเวณตรงข้ามกับวัดพิชัยปุรณาราม ต.อุทัยใหม่ อ.เมืองอุทัยธานี ซึ่งเป็นจุดน้ำแห้งมากที่สุดจนมองเห็นเนินดินและเคยเดินข้ามฝั่งไปมาได้ในช่วงก่อนหน้านี้ เริ่มมีชาวบ้านทยอยชักลากเรือนแพและกระชังปลาของตัวเองกลับเข้ามาลอยอยู่ที่กลางลำน้ำแล้ว แต่ระดับน้ำยังไม่มากพอที่จะเลี้ยงปลากระชังใหม่ได้

ขณะที่ชาวแพบางรายใช้พื้นที่ลานดินที่ระดับน้ำลดลง ทำเป็นแปลงปลูกผักต่างๆ ไว้รับประทานในครอบครัวและแบ่งขายหารายได้ทดแทนในช่วงนี้ แต่เรือนแพของชาวบ้านบางรายในจุดนี้ก็ได้รับความเสียหายแพค้างเติ่งบนท้องน้ำสะแกกรังที่แห้งขอด ต้องลงทุนซื้อไม้ไผ่มาทำลูกบวบใหม่ ซึ่งตอนนี้ไม้ไผ่ที่ใช้ทำลูกบวบมีราคาสูงถึงลำละประมาณ 60-80 บาท


ส่วนจุดลุ่มต่ำบริเวณฝั่งวัดอุโบสถารามนั้น พบว่าเรือนแพของชาวบ้านยังลอยอยู่กลางน้ำ และไม่ได้รับความเสียหายกันมากนัก ปลากระชังของชาวแพบางรายที่ยังมีเหลืออยู่ในตอนนี้ หากปริมาณน้ำในแม่น้ำสะแกกรังไม่ลดต่ำลงอีกก็ยังคงประคองให้ปลาอยู่รอดไปจนถึงช่วงที่จะจับขายตามกำหนดได้

นายฐกร กาญจน์จิรเดช ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุทัยธานี เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรังลดต่ำลงนั้นเกิดจากมีการใช้น้ำจากทางเหนือ หรือแถวใต้เขื่อนทั้ง 2 เขื่อนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีล่าช้าเนื่องจากเป็นพื้นที่ดอน ทำให้ต้องมีการระบายน้ำเข้าไปสนับสนุนราว 800 ไร่เศษ จึงทำให้น้ำสะแกกรังลดน้อยลงไป

ทางกรมฯ ได้รับทราบแล้วว่าพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีได้รับผลกระทบน้ำในแม่น้ำสะแกกรังแห้ง ซึ่งได้ออกคำสั่งให้ชลประทานที่ 3 ชลประทานที่ 4 และในเขตพื้นที่รับผิดชอบช่วยพยายามควบคุมการใช้น้ำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +13.50 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อให้น้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีพอที่จะช่วยประคองแพและกระชังปลาให้อยู่ได้ และไม่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด


และเมื่อช่วงวันที่ 27 ธันวาคม 63 ทางชลประทานฯ ได้แจ้งขอระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนสิริกิติ์ส่วนหนึ่งและจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอีกส่วนหนึ่ง จากเดิมที่ 110 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 150 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ตอนนี้ได้มีการกำหนดแผนงานกันไว้คร่าวๆ ว่าจะสร้างประตูระบายน้ำ แต่ยังอยู่ในช่วงการทำรายงานความเหมาะสมก่อน ซึ่งหากจะมีการก่อสร้างจริงก็จะมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ด้วยกัน 3 จุด คือ 1. ช่วงปลายสะแกกรัง ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม อ.มโนรมย์ ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับสะพานมากที่สุด 2. แถวหมู่บ้านโรงน้ำแข็ง และ 3. บริเวณวัดท่าซุง ซึ่งต้องดูด้วยว่าจุดไหนที่มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงน้อยที่สุด

“โครงการนี้ถ้าทำจะต้องใช้งบประมาณคร่าวๆ ที่ 777 ล้านบาทเศษ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี แต่ยังเป็นเรื่องของการประเมินในเบื้องต้น และยังไม่มีการออกแบบที่ชัดเจน” นายฐกรกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น