xs
xsm
sm
md
lg

อ.ส.ค.ยอมแล้ว! รับน้ำนมดิบวันละ 40 ตัน ผลิตนมกล่องยูเอชทีชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ได้ข้อยุติแล้ว อ.ส.ค.ยอมรับน้ำนมดิบส่วนเกินผลิตเป็นนมกล่องยูเอชทีชั่วคราวไปจนถึงกลางเดือนนี้ เพื่อแก้ปัญหาเทนมทิ้งเบื้องต้น แต่ทางสหกรณ์โคนมฯ จะต้องรับนมกล่องที่ผลิตแล้วไปจำหน่าย ส่วนนมโรงเรียนกว่า 4 แสนถุงที่หมดอายุที่ค้างในสต๊อกนั้นก็ต้องทิ้ง

วันนี้ (8 ม.ค.) น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผู้บริหารองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้เดินทางมาที่สำนักงาน อ.ส.ค.ภาคใต้ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเข้าร่วมประชุมกับนายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสังวาลย์ โพธิ์มี ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้-และภาคตะวันตก นายนนทะชัย โนนพุทธา ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้-และภาคตะวันตก พร้อมตัวแทนสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค 6 แห่งประจวบฯ และเพชรบุรี รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ปัญหากรณีน้ำนมดิบในพื้นที่ประจวบฯเพชรบุรี ตามสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค 6 แห่งและชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้-และภาคตะวันตก

หลังจากได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมีการประกาศปิดสถานศึกษาในพื้นที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ส่งผลทำให้สหกรณ์ต่างๆ ต้องนำน้ำนมดิบทิ้งไปแล้วกว่า 300 ตัน เพื่อรับน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมทั้ง สต๊อกในห้องเย็นของสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ นมโรงเรียนเพื่อโครงการอาหารเสริมเท่านั้น และนมเหล่านี้ที่อยู่ในถุงมีระยะเวลา 10 วันเท่านั้นตามาตรฐาน อย. หลังจากนั้น จะต้องนำไปทำลายทิ้งต่อไป นอกจากนั้นแล้ว ยังพบว่าข้อมูลของสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คอ่าวน้อย จำกัด มีนมโรงเรียนค้างสต๊อก 14,000 ถุง สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด มีนมโรงเรียนค้างสต๊อก 171,625 ถุง และสหกรณ์โคนม ชะอำ-ห้วยทราย จำกัด มีนมโรงเรียนค้างสต๊อก 200,000 ถุง รวมทั้งหมด 459,975 ถุง และต้องหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่มีการเลี้ยงโคนมมาก และมีปริมาณของน้ำนมดิบค่อนข้างเยอะ และมีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ในภาคนี้สามารถรับน้ำนมได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานเพิ่มเพื่อให้สามารถรองรับน้ำนมดิบได้มากึงวันละ 200 ตัน ซึ่งจากกรณีปัญหาโควิด-19 เรามีนมโรงเรียนทั้งนมยูเอชที และพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งทาง อ.ส.ค.จะรับผลิตนมยูเอชทีทั้งหมดก็มาติดปัญหาเรื่องของสต๊อก และติดปัญหาเรื่องกล่องนมซึ่งไม่สามารถสั่งมาสต๊อกไว้หลายเดือนได้ ซึ่งข้อจำกัดของการรับนมของเกษตรกรจึงมีข้อจำกัดตามมา ซึ่งตอนนี้มีน้ำนมดิบของเกษตรกรในพื้นที่ประจวบฯ และเพชรบุรี ส่วนหนึ่งล้นถึงวันละ 40 ตัน และ กำลังการผลิตของ อ.ส.ค.ทั้งการผลิตนมโรงเรียน และนมพาณิชย์จึงไม่เพียงพอ

วันนี้น้ำนมดิบ 40 ตันจะไปไหน ซึ่งมีการประสานงานกับทั้งจังหวัด อ.ส.ค. และผู้ประกอบการที่ผลิตนม จนได้ข้อสรุปว่า อ.ส.ค.ภาคใต้ปราณบุรีจะรับได้ 20 ตัน และ ที่ อ.ส.ค.มวกเหล็กรับไป 20 ตัน ในการผลิตเป็นนมกล่องยูเอชที และขอให้ทางผู้ว่าฯ ประจวบฯ ช่วยประสานกับทางผู้ว่าฯ เพชรบุรีด้วยเพราะน้ำนมดิบจากเพชรบุรีจะเข้ามาที่ อ.ส.ค.ภาคใต้ ด้วย ดังนั้น จึงขอให้มีการบูรณาการกันเพื่อดำเนินการในการทำนมพาสเจอร์ไรซ์ให้แก่โรงเรียนต่อไป

ด้านนายสังวาลย์ โพธิ์มี ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้-และภาคตะวันตก นายนนทะชัย โนนพุทธา ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้-และภาคตะวันตก กล่าวว่า หากทาง อ.ส.ค.ภาคใต้ รับข้อเสนอจากทางสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ที่มายื่นข้อเรียกร้องให้ช่วยเหลือรับน้ำนมดิบที่ล้นอยู่วันละ 40 ตัน เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ปัญหาการเทน้ำนมดิบทิ้งทุกวันก็คงไม่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ทุกสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คที่มาก็ยอมรับในแนวทางแก้ปัญหาถึงจะเป็นระยะสั้นก็ตาม

โดยที่ประชุมให้ ให้ทาง อ.ส.ค.ภาคใต้ และ อ.ส.ค มวกเหล็ก รับน้ำนมดิบวันละ 40 ตัน แบ่งที่ละ 20 ตันเพื่อไปผลิตเป็นนมยูเอชที คือนมกล่องโรงเรียนและนมพาณิชย์ ซึ่งจะมีอายุประมาณ 6-8 เดือน โดยค่าขนส่งน้ำนมดิบนั้นทางสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค เป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อผลิตเสร็จแล้วแต่ละสหกรณ์ก็จะรับผิดชอบในการนำนมกล่องกลับไปจำหน่ายต่อไป ซึ่งแต่ละสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คประจวบฯ เพชรบุรีจะต้องมาประชุมหารือเพื่อการบริหารจัดการต่อไป แต่เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 เท่านั้น เพื่อที่จะไม่ต้องทิ้งน้ำนมดิบต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการประเมินสถานการณ์ต่อไป ดังนั้น ช่วงนี้แต่ละสหกรณ์สามารถรับน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต่อไป ก็จะลดผลกระทบความเดือดร้อนไปได้ระยะหนึ่งเท่านั้นเพราะเกษตรกรต้องรีดนมทุกวันเช้า-เย็น ในขณะที่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะมีการเรียกประชุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาเป็นการเร่งด่วน เพื่อหาทางรับนมพาสเจอร์ไรซ์ หรือนมโรงเรียนไปส่งยังนักเรียนถึงแม้จะอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะหากทำได้ทางสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คจะสามารถผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ต่อไปได้








กำลังโหลดความคิดเห็น