xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวคิด CEO หนุ่มเมืองแปดริ้ว พลิกบ่อลูกรังร้างเป็นแหล่งเก็บน้ำชลประทาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - เปิดแนวคิด CEO หนุ่มเมืองแปดริ้ว พลิกบ่อลูกรังร้างเป็นแหล่งเก็บน้ำชลประทานระบบท่อเสริมความแข็งแกร่งกลุ่มอุตสาหกรรมตะวันออก ตอบโจทย์ช่วยรัฐขับเคลื่อน EEC เดินหน้าโดยไม่สะดุดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

จากวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงกลางปี 2563 จนก่อให้เกิดศึกชิงน้ำระหว่างประชาชนในหลายพื้นที่ และยังทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก หลายแห่งต้องปิดตัวลงเพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนดำเนินงานได้ ส่วนอีกหลายแห่งต้องปิดตัวเพราะไม่มีน้ำใช้ในภาคการผลิต

วันนี้ “manager online” จะพาไปทำความรู้จักนักธุรกิจหนุ่มวัย 33 ปี เชื้อสายอุตรดิตถ์ ที่เติบโตมากับแวดวงการบริหารจัดการน้ำ ในฐานะประธานกรรมการบริษัท อินดัสเตรียลวอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จํากัด หรือ IWRM ผู้พลิกฟื้นบ่อลูกรังอันไร้ค่าในอดีตให้กลับมาเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำรอง รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมใน จ.ฉะเชิงเทรา ได้เป็นอย่างดี


ธนวัฒน์ สันตินรนนท์ หรือตั้ม ได้ใช้ความรู้ที่มีถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยการจัดทำโครงการชลประทานระบบท่อเสริมศักยภาพทรัพยากรน้ำให้แก่ภาคธุรกิจ และยังตอบโจทย์การหาแนวทางแก้ปัญหาแหล่งน้ำในภาคอุตสาหกรรมให้แก่รัฐบาลที่กำลังเดินหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ให้เดินหน้าต่อไปได้

โดย ธนวัฒน์ ได้เข้ามารับช่วงต่อการบริหารธุรกิจบริหารจัดการน้ำให้แก่ภาคอุตสาหกรรมจาก นายวีรชัย สันตินรนนท์ ผู้เป็นบิดาเมื่อ 6 ปีก่อน หลังได้ก่อตั้งบริษัทเพื่อผลิตน้ำดิบส่งให้แก่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี มานานกว่า 20 ปี

วันนี้ยังได้นำบ่อลูกรังเก่าที่มีความลึกประมาณ 30 และ 50 เมตร ในเนื้อที่รวมกว่า 2 พันไร่ ที่บิดาซื้อเก็บไว้หลังถูกตักหน้าดินไปถมพื้นที่หนองงูเห่าเพื่อก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีมูลค่าใดๆ มาพัฒนาให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองให้แก่ภาคอุตสาหกรรม




พร้อมจัดทำระบบท่อที่ถูกวางโครงข่ายเชื่อมโยงจากบ่อลูกรังเก่าในแต่ละแห่งให้สามารถผันน้ำจากบ่อหนึ่งไปยังอีกบ่อหนึ่งได้ ส่งผลให้บ่อลูกรังเก่าเหล่านี้สามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่าปีละ 25 ล้าน ลบ.ม.และยังได้รับความสนใจจากกลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มผู้ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เริ่มมีความเชื่อมั่นว่าหากลงทุนแล้วจะมีน้ำใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างแน่นอน

ปัจจุบัน บริษัท อินดัสเตรียลวอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จํากัด หรือ IWRM มีแหล่งเก็บน้ำในบ่อลูกรังเก่ากระจายอยู่ทั้งใน จ.ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย เขต อ.พานทอง พนัสนิคม บ้านบึง และ อ.เมืองชลบุรี และ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ในอดีตพื้นที่แปลงยาวเป็นพื้นที่น้ำท่วมในฤดูฝนแต่เมื่อปรับให้กลายเป็นบ่อกักเก็บน้ำก็ทำให้มีต้นทุนน้ำดิบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ดึงเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มทุนใหม่ และกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้เป็นอย่างดีท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

“บ่อแต่ละแห่งมีทางน้ำที่ไม่เท่ากันและมีปริมาณน้ำฝนที่ไม่สม่ำเสมอในทุกทุกๆ ดังนั้นเราจึงได้ทำโครงการชลประทานระบบท่อ เพื่อผันน้ำจากบ่อที่มีทางน้ำดีกว่าไปกักเก็บไว้ยังบ่อที่อาจมีทางน้ำน้อยกว่าในช่วงฤดูฝน จึงทำให้เรามีน้ำเก็บไว้จนเต็มความต้องการในทุกบ่อ เกิดเป็นความมั่นคงในการมีน้ำทุนสำรองที่เพียงพอ และสามารถผันออกสนับสนุนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ”







ในวันนี้ บริษัท อินดัสเตรียลวอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จํากัด หรือ IWRM ยังได้รับสัมปทานน้ำจากกรมชลประทาน ที่สนับสนุนน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา มาให้กักเก็บในช่วงฤดูฝนเพิ่มอีกประมาณ 7.3 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ผลักดันให้มีปริมาณน้ำต้นทุนมากถึง 32 ล้าน ลบ.ม.

และกลายเป็นตัวเลือกสำคัญของกลุ่มลงทุนนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนน้ำดิบให้แก่นิคมอุตสาหกรรม 4 แห่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ที่เคยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในปี 2563 นิคมฯ ทีเอฟดี นิคมฯ บลูเทคซิตี้ และบีพี (บ้านโพธิ์) กลุ่มโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

โดยนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 4 แห่ง มีความต้องการใช้น้ำรวมประมาณ 100,000 ลบ.ม.ต่อวัน หรือประมาณ 36 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี




และเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ยังได้เปิดตัวสถานีเพิ่มแรงดันน้ำบางปะกงที่ ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อช่วยขับเคลื่อนโครงการ EEC อีกด้วย

“แรงบันดาลใจในการดำเนินโครงการชลประทานระบบท่อ เกิดจากการน้อมนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบแก้มลิง ตามปราชญ์พระราชาในรัฐกาลที่ 9 มาใช้ จึงทำให้เราเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศ”

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เจอในวันนี้คือ ปัญหาดินเค็ม ดินมีแร่ธาตุโลหะหนัก (แมงกานีส) ปนเปื้อนสูงจึงทำให้ไม่สามารถที่จะนำบ่อลูกรังที่รับซื้อไว้ทั้งหมดเกือบ 40 บ่อมาพัฒนาให้เป็นบ่อเก็บน้ำสำรองได้ทั้งหมด เช่น บ่อลูกรังแถบย่านถนนเลียบมอเตอร์เวย์ และบ่อในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่เมื่อนำน้ำจืดเข้ามากักเก็บไว้ก็จะกลายเป็นน้ำเค็มไปในที่สุด

แต่ ธนวัฒน์ หรือตั้ม ก็ยังไม่ท้อและพร้อมที่จะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อเดินหน้าจัดหาแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติมให้มากขึ้น เพื่อให้ทันต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ ที่กำลังเกิดใหม่ใน อ.บางปะกง และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า BP ใน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีการลงทุนค่อนข้างสูงและมีความต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว








กำลังโหลดความคิดเห็น