xs
xsm
sm
md
lg

ตามส่องวิถีชีวิตชาวบ้านหลังเสร็จนาปี ออกขุดปูจับกบดักหนูนา หาได้มากเหลือกินก็ขาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - ตามส่องวิถีชีวิตพี่น้องเกษตรกรหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จ ช่วงรอทำนาปรังรอบต่อไป ต่างพากันออกหาอาหารป่าตามท้องทุ่ง ทั้งขุดปู จับกบ เขียด หนูนา ทำเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัว ประหยัดเงินซื้อกับข้าวในตลาด เผยเป็นเมนูรสเลิศตามฤดูกาล เหลือกินก็ขายเป็นรายได้เสริม


หลังเก็บเกี่ยวข้าวขนขึ้นยุ้งฉาง บางส่วนแบ่งขายแลกเงินสดใช้หนี้ ธ.ก.ส. และจ่ายค่าปุ๋ย ค่าหนี้สินจิปาถะที่เชื่อไว้ เงินที่เหลือเก็บไว้ทำทุนทำนาทำไร่รอบต่อไป พี่น้องชาวนาที่ไม่ได้ไปรับจ้างในเมืองใหญ่ใช้ชีวิตหาอยู่หากินตามท้องทุ่ง ออกหาอาหารตามท้องนา เช่น กบ เขียด ปูนา และล่าหนูนา ทำเมนูอะไรก็แซบนัวไปหมดเพราะ เนื้อของสัตว์เหล่านี้ จะให้รสชาติมัน อร่อยลิ้นเป็นพิเศษ เพราะเก็บสะสมไขมันไว้มานานหลายเดือน

อย่างกรณีของนายบัวทอง ภูแสงศรี อายุ 52 ปี ชาวบ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ก็มีวิถีชีวิตไม่ต่างจากพี่น้องชาวนาไทยทั่วไป เขาเล่าว่าหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จเป็นช่วงที่มีเวลาว่างก่อนที่จะปรับพื้นที่ทำนาปรังกันต่อ ตนและเพื่อนบ้านจึงได้ชักชวนกันนำจอบเสียมลงสู่ท้องนาหาขุดกบ เขียด ปูนา หนูนา ที่ขุดรูอยู่ตามท้องนา อย่างน้อยก็ช่วยประหยัดค่าอาหารแต่ละวันได้ไม่น้อย ไม่ต้องเข้าตลาดซื้อกินทุกมื้อ

“ถ้าหาจับได้จำนวนมากก็จะแบ่งขายที่ตลาดนัดตามชุมชน โดยปูนาขายได้กิโลกรัมละ 80 บาท หนูนาตัวละ 50 ถึง 70 บาท ตามขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็พออยู่พอกินตามวิถีคนบ้านนอก” นายบัวทองกล่าว และว่า


สำหรับปูนา และหนูนา ปีนี้ค่อนข้างชุกชุม แม้ฤดูฝนที่ผ่านมาจะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง แต่ก็ได้รับน้ำจากคลองชลประทานลำปาวจึงไม่ขาดแคลนน้ำ และทำให้มีสัตว์ที่เป็นอาหารหรือของแซ่บอีสาน เช่น ปูนา หนูนา ชุกชุม ขณะที่ กบ เขียด ปีนี้ค่อนข้างหายาก คงเป็นเพราะกำลังจะสูญพันธุ์จากท้องนา พวกมันเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติไม่ได้ ปุ๋ยเคมีตกค้างเยอะ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนรสชาติของอาหารตามฤดูกาลอย่างปูนาจะให้รสที่มัน อร่อย ทำเป็นอาหารได้หลายเมนู เช่น ทอดกรอบ ป่น ต้ม แกง ใส่กับเครื่องเคียงต่างๆ และสามารถถนอมกินได้ตลอดปีโดยการดอง และปรุงอาหารประเภทตำต่างๆ ส่วนหนูนาจะนิยมปิ้ง ย่าง ผัดเผ็ด เนื่องจากในฤดูหนาว หนูนาจะมีการสะสมไขมันในร่างกาย ชาวบ้านหลายคนจึงเชื่อว่ารับประทานหนูนาแล้วจะเสริมสร้างความอบอุ่น คลายหนาวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ขณะที่นายวชิระ แสงทอง และนายปรีชา พิมพาทอง ชาวบ้านกุดตอแก่น ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง สองนักล่าหนูนาประจำหมู่บ้าน ด้วยการใส่บ่วงดักตามเส้นทางที่หนูวิ่งตามคันนาและป่า โดยการออกล่าหนูนานั้นจะเริ่มตั้งแต่ช่วงที่ข้าวในนาเริ่มสุกชาวบ้านในเขตพื้นที่อำเภอเขาวงก็จะเริ่มออกหาหนูนาด้วยวิธีการแตกต่างกันออกไป มีทั้งการใส่บ่วง ใส่กับดัก ทั้งหมดถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในการล่าหนูนาแทบทั้งสิ้น


นายวชิระบอกว่า พวกตนจะเริ่มออกใส่บ่วงดักหนูราวบ่าย 3-4 โมงเย็น หากดักหัวค่ำมากเกินไป หนูนาจะได้กลิ่นคน ไม่ออกหาอาหาร หรือบางตัวอาจจะออกไปแล้ว วิธีการดักนั้นตนจะเลือกดูเส้นทางเดินของหนูว่าเดินไปทิศทางไหน และเส้นทางนั้นดูเตียนหรือไม่ จากนั้นก็ค่อยๆ นำบ่วงไปดักตามจุดต่างๆ เป้าหมายคือ ดักให้ใกล้แหล่งน้ำมากที่สุดเพราะหลังจากเก็บเกี่ยวเเล้วหนูนาจะมีอาหารไม่มากเหมือนตอนยังไม่มีการเก็บเกี่ยว


ดังนั้น หนูนาจึงต้องไปหากินใกล้ๆแหล่งน้ำเพราะมีหอยมีปูให้กิน การหาหนูนานั้นเป็นวิถีชาวบ้านช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพราะหากไม่มีการจับหนูนากันเลย ปริมาณหนูนาก็จะมีมาก หนูพวกนี้จะไปสร้างปัญหาสร้างความเสียหายหน้าทำนา พวกมันจะออกมากัดกินต้นข้าวจนเสียหาย ส่วนหนูนาที่ดักมาได้นั้นส่วนมากก็จะเอามาประกอบอาหารภายในครอบครัว ทำได้หลายเมนู เมนูไหนก็แซ่บ ทั้งหนูนาย่าง คั่วหนูนา ผัดเผ็ดหนูนา แกงฮ่อมหนูนา ลาบหนูนา


กำลังโหลดความคิดเห็น