ท่าขี้เหล็ก/แม่สาย - ตามส่องช่องทางธรรมชาติท่าขี้เหล็ก-แม่สาย เส้นทางสาวแหล่งบันเทิง 1G1 ติดโควิด-19 จ้างพม่าพาส่งริมพรมแดน ก่อนเดินข้ามน้ำ ฝ่าป่า พงหญ้า ลอดรั้วลวดหนามลอบเข้าไทยจนเชื้อกระจายทั่ว
วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในท่าขี้เหล็ก รัฐชาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และหลายจังหวัดของไทย ลุกลามข้ามน้ำโขงไปถึงฝั่งเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว จนต้องสั่งปิดเมือง-ห้ามเรือลงน้ำโขง สแกนหาผู้ติดเชื้อ รวมถึง สป.จีนตอนใต้ ที่พบว่ามีหนุ่มชาวจีน 2 รายลอบข้ามแดน 3 ประเทศ กลับบ้านติดเชื้อโควิด-19 ด้วย
ล้วนมีต้นตอมาจากสถานบันเทิงภายในโรงแรม 1G1 ท่าขี้เหล็ก ที่ลักลอบข้ามพรมแดนผ่านช่องทางธรรมชาติกลับบ้าน นับตั้งแต่พบสาวพม่าวัย 20 ปี ติดเชื้อเป็นรายแรกเมื่อ 20 พ.ย. และทางการท้องถิ่นสั่งปิดโรงแรม 1G1 ต้นทางแหล่งไวรัสระลอกนี้ตั้งแต่ 25 พ.ย.เป็นต้นมา
“แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก” ถือเป็นหัวเมืองชายแดนไทย-พม่าที่ผู้คนทั้งสองฝั่งติดต่อทั้งทางด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตมายาวนาน บางคนมีบ้าน มีบัตรทั้งสองฝั่ง มีการข้ามไปมาหาสู่มาตั้งแต่อดีต มีเทือกเขาดอยนางนอนเป็นเขตแดนฝั่งไทยประมาณ 30 กม. และลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก ซึ่งไหลมาจากรัฐชานกลายเป็นเส้นเขตแดนตั้งแต่ ต.เวียงพางคำ ต.แม่สาย-สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน อีก 30 กว่า กม. รวมระยะทางทั้งทางบก และทางน้ำประมาณ 60 กม.
ที่ผ่านมา มีจุดผ่านแดนถาวรระหว่างกัน 2 จุด คือ จุดผ่านแดนสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 และจุดผ่อนปรนอีก 4 จุด คือ จุดผ่อนปรนสายลมจอย ต.เวียงพางคำ จุดผ่อนปรนเกาะทราย ต.แม่สาย จุดผ่อนปรนท่าดินดำ ต.เกาะช้าง และจุดผ่อนปรนปางช้าง ต.เกาะช้าง เคยมีการติดต่อค้าขายระหว่างกันเฉพาะในระบบปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท
ไม่รวมการค้านอกระบบที่มีและทำกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานผ่านทั้งพรมแดนทางบก-ทางน้ำหลายสิบปีก่อน บางจุดกองทัพมดขนกันทั้งคืนเพื่อเลี่ยงพิกัดอัตราภาษีฝั่งพม่า รวมถึงเป็นช่องทางการส่งสินค้าข้ามแดนเมื่อมีการปิดด่าน ที่สมัยก่อนมีการเปิด-ปิดด่านกันเป็นประจำ
โดยเฉพาะ “ลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก” ที่กั้นระหว่างตัวเมืองแม่สายกับท่าขี้เหล็ก ถือเป็นขุมทองชั้นดีของขบวนการ เพราะสภาพชุมชนที่หนาแน่นทางต้นน้ำผ่านสะพานแห่งที่ 1 ไปจนสุดเขตเทศบาล ต.แม่สาย มีแต่บ้านเรือนและห้างร้านเต็มพื้นที่ สามารถมองลอดผ่านไปยังฝั่งท่าขี้เหล็กพม่าเหมือนอยู่ในซอยเดียวกัน ช่วงกลาง-ท้ายน้ำที่เปลี่ยนชื่อเป็นลำน้ำรวกจะเป็นชนบทที่มีแต่ทุ่งนาและมีบ้านเรือนตั้งอยู่ไม่หนาแน่น
ตลอดแนวลำน้ำประมาณ 30 กิโลเมตรดังกล่าวมีท่าน้ำดังๆ ในอดีตที่มีประวัติใช้การลักลอบขนสินค้าหนีภาษีมายาวนาน เช่น ท่าว้า ท่ากะหล่ำ ท่ากำนันแดง ท่าเจ๊ดาว ท่าเกาะทราย ท่าป่ากล้วย แต่ปัจจุบันเป็นจุดผ่อนปรนที่ทางการเข้าไปควบคุม
แต่นอกเหนือจากนี้ ยังมีท่าข้ามริมน้ำต่างๆ ที่เรียกกันในท้องถิ่นนับ 10 แห่ง เช่น ท่าถ้ำผาจม ท่าสายลมจอย ท่าสิบแปดมงกุฎ ท่าข้ามพญานาค เฉพาะบ้านเกาะทรายมีท่าแบบนี้อยู่กลางชุมชนถึง 3 ท่า
“น้ำสายลึกแค่หน้าแข้งหัวเข่า หน้าแล้งจริงๆ บางจุดเหลือแค่ข้อเท้า แค่ 2 นาทีก็ข้ามฝั่งได้แล้ว” แหล่งข่าวชาวชุมชนเกาะทราย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยืนยันกับผู้สื่อข่าว
สภาพที่เอื้อทำให้ขบวนการค้าของหนีภาษีใช้ลักลอบขนสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจากจีนเข้ามา แม้แต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่มีการปิดพรมแดนก็ยังมีการลักลอบนำสินค้า เช่น บุหรี่ สุราเข้ามาได้หลายจุด เช่น ท่าข้ามพญานาค 2 บ้านเกาะทราย ต.สันทราย ลำน้ำบริเวณซอยชุมชนไม้ลุงขนใกล้สะพาน 1
อีกทั้งท่าข้ามฝั่งไทยเหล่านี้ยังเป็นช่องทางข้ามไปมาของคนที่ไม่มีเอกสารใดๆ ทั้งบอร์เดอร์พาส/พาสปอร์ต สมัยก่อนถ้าคนออกแต่ละท่า (ไม่รวมค่าใช้จ่ายฝั่งพม่า) คิดกันที่หัวละ 500 บาท ขาเข้าหลัก 1,000 บาท มีบริการมอเตอร์ไซค์ส่งถึงท่ารถ ที่พักพร้อมสรรพ
แต่หลังเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ช่วงเดือน มี.ค.2563 ไทย-พม่าปิดชายแดนระหว่างกัน เหลือเพียงสะพานแห่งที่ 2 เพื่อการขนส่งสินค้าเท่านั้น ทำให้แนวป่าเขาตั้งแต่พื้นที่พรมแดนบ้านผาแตก ท่าข้ามริมน้ำสาย-ลำน้ำรวก ที่ผู้คนเคยข้ามไปมาตามจุดผ่อนปรนค่อนข้างอิสรเสรีกลายเป็นจุดต้องห้าม ก็กลายสภาพเป็นจุดที่มีการลักลอบข้ามไปมาของผู้ที่มีผลประโยชน์จากธุรกิจใต้ดินบริเวณชายแดนอยู่
ชายชาวพม่าที่เคยลักลอบข้ามมายังฝั่งไทยกล่าวว่า ได้จ่ายเงินสำหรับการนำพาในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก จำนวน 5,000 บาท เพื่อเป็นค่าจ้างให้พาไปยังท่าน้ำที่จะใช้ข้ามมายังฝั่งไทย และเมื่อถึงฝั่งไทยก็จะมีคนนำรถจักรยานยนต์มารับ หรือเดินลึกเข้ามาในฝั่งไทยแล้วจะมีคนมารับพาไปยังที่พัก ซึ่งต้องจ่ายอีก 7,000 บาทขึ้นไป
แต่หลังเกิดปัญหาหญิงสาวชาวไทยหลายคนลักลอบข้ามมา และติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ทำให้ค่าจ้างเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท หรือบางครั้งมากถึงหัวละ 15,000 บาท
กล่าวได้ว่า หลังบ้านติดน้ำก็นั่งรอรับตังค์ได้เลย เพราะมากันแบบกองทัพมด
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เจ้าหน้าที่เข้มงวดตามแนวชายแดนนี้ พบว่า การลักลอบเข้ามามีความหลากหลายขึ้น นอกจากจะลอบเข้ามาทั้งทางท่าน้ำต่างๆ ดังกล่าว บางครั้งก็หันไปลักลอบเข้าทางบกผ่านป่าเขาเขตบ้านผาแตก ต.เวียงพางคำ ซึ่งเป็นเส้นทางที่หญิงสาววัย 29 ปี ชาว จ.เชียงใหม่ และอายุ 23 ปี และ 26 ปี ชาวเชียงราย และพะเยา ที่ลักลอบข้ามเข้ามาแล้วก่อนจะพบว่าติดเชื้อโควิด-19
โดยนั่งรถรับจ้างจากตัวเมืองท่าขี้เหล็กไปเหนือบ้านปงถุน แล้วข้ามลำน้ำสายในเขตพม่า จากนั้นเดินทางทางบกไปยังชายแดนระยะทางเพียงแค่ 1-2 กิโลเมตร ก่อนจะฝ่าป่าหญ้ารก รวมทั้งแนวลวดหนามที่เจ้าหน้าที่ไทยวางเอาไว้บริเวณถนนเลียบชายแดนแม่สาย-แม่ฟ้าหลวง แล้วก็ขึ้นถนนลาดยางฝั่งไทยก่อนเข้าสู่หมู่บ้าน เพื่อหารถรับจ้างไปส่งตามที่หมายของตนเองต่อไป