ศูนย์ข่าวศรีราชา - เจ้าท่าลุยตรวจรีสอร์ตดังย่านบางเสร่ หลังก่อสร้างที่พักรุกอ่าวบางเสร่ เบื้องต้น ศาลชั้นต้นพิพากษายืนตามคำสั่งให้รื้อถอนแต่ยังต้องรอผลพิพากษาอีกรอบ ระบุหากศาลยืนตามคำสั่งเดิมนอกจากต้องรื้อทิ้ง ยังมีโทษหนักทั้งปรับและจำคุกตามกฎหมายใหม่
วันนี้ (2 ธ.ค.) นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 เข้าตรวจสอบการก่อสร้างสะพานและอาคารรุกล้ำลำน้ำของรีสอร์ตหรูริมทะเล ตั้งอยู่เลขที่ 4/2 ม.5 ต.บางเสร่ หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการก่อสร้างในลักษณะโครงสร้างคอนกรีตและบางส่วนเป็นลานอเนกประสงค์ล่วงล้ำทะเลบริเวณอ่าวบางเสร่ อ.สัตหีบ โดยไม่ได้รับอนุญาต
และจากการตรวจสอบพบสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมาย ประกอบด้วย 1.สิ่งปลูกสร้างขนาดกว้าง 13.5 เมตร ยาว 24.5 เมตร รวมพื้นที่ล่วงล้ำลำน้ำ 330.75 ตารางเมตร ซึ่งกรมเจ้าท่าได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 2.ลานอเนกประสงค์ขนาด 3x4 เมตร 2.8x2.4 เมตร และ 2.9x2 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ล่วงล้ำ ขนาด 12x102 เมตร รวมพื้นที่ 1,224 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้วเช่นกัน
และ 3.พื้นที่ล่วงล้ำดังกล่าวยังครอบคลุมพื้นที่ทะเลอ่าวบางเสร่ขนาด 73x12 เมตร เป็นพื้นที่ล่วงล้ำ 876 ตารางเมตร ซึ่งจากพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนพบพื้นที่สิ่งล่วงล้ำทางน้ำประมาณ 2,430.75 ตารางเมตร
จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา ประสานพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีต่อเจ้าของอาคารในฐานความผิด “ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ตามมาตรา 117 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย”
ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า เผยอีกว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ถือเป็นการสแกนพื้นที่ล่วงล้ำลำน้ำที่ผิดกฎหมายและต้องดำเนินการรื้อถอนตามคำสั่งของกรมเจ้าท่า โดยพบว่าพื้นที่ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
และกรมเจ้าท่า ได้ออกคำสั่งให้รื้อถอนไปแล้วตามระยะเวลาที่กำหนดแต่เจ้าของอาคารได้มีการอุทธรณ์ไปยังศาลปกครอง ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของกรมเจ้าท่า
“แต่เจ้าของอาคารก็ได้อุทธรณ์ต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างอาคารล่วงล้ำลำน้ำจะต้องมีการบังคับให้รื้อถอนเพราะเป็นสิ่งที่ไม่พึงอนุญาตแต่เดิม โดยกฎหมายที่ออกมาล่าสุดยังได้กำหนดโทษที่รุนแรงกว่ากฎหมายเดิมของ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ฉบับที่ 14 คือ ได้เพิ่มอัตราค่าปรับเพิ่มเป็นตารางเมตรละ 1,000-20,000 บาท รวมทั้งมีการเพิ่มโทษจำคุก 3 ปี”
ทั้งนี้ หากกรมเจ้าท่า มีคำสั่งให้รื้อถอนภายในกำหนดระยะเวลา 60 วันแล้วไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง และหากมีการอุทธรณ์ต่อสู้กันในชั้นศาลปกครองแล้ว สุดท้ายศาลปกครองตัดสินคดีให้รื้อถอนตามคำสั่งของกรมเจ้าท่า ภายในเวลา 1 ปี ก็จะต้องมีการคิดค่าเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายของกรมเจ้าท่าเป็นรายวัน จำนวน 360 วัน และผู้ประกอบการยังถูกศาลปรับรายวันอีกด้วย
นายภูริพัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำน้ำในเขต จ.ชลบุรี อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เช่น ชุมชนบ้านเกาะล้าน เขตเมืองพัทยา ซึ่งมีลักษณะเป็นรีสอร์ตที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่นำพื้นที่ทะเลที่ประชาชนมีสิทธิใช้ประโยชน์ร่วมกันมาหาประโยชน์ทางธุรกิจ โดยมีมากถึง 25 ราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคำอุทธรณ์ในชั้นศาลปกครองเช่นกัน