ตราด - ทนไม่ไหวแล้ว! กลุ่มแพทย์ใช้ทุน รพ.ตราด ทำหนังสือร้องกระทรวงสาธารณสุข ถูกแพทย์พี่เลี้ยงบังคับซื้อเวรจนทำไม่ไหวหวั่นส่งผลกระทบการรักษาคนไข้ ด้าน ผอ.โรงพยาบาล เผยทราบปัญหาแล้วเร่งประชุมหาทางแก้ไข เชื่อสถานการณ์ดีขึ้น
วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มแพทย์ใช้ทุนบางส่วนของโรงพยาบาลตราด ว่า กำลังได้รับผลกระทบจากการทำงานเนื่องจากต้องเข้าเวรในช่วงหลังเลิกงานตั้งแต่เวลา 18.00 น.และยังต้องถูกบังคับซื้อเวรจากแพทย์อาวุโสซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทาง จนทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน
โดยปัญหาที่เกิดขึ้นได้แจ้งไปยังผู้บริหารโรงพยาบาลให้ได้รับทราบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ที่สำคัญแม้จะมีการประชุมร่วมกันมาแล้ว 2-3 ครั้ง แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
ขณะที่แพทย์ใช้ทุนรายหนึ่งเผยว่า ตนเองต้องการที่จะเสนอแนวทางแก้ปัญหาและทำงานร่วมกัน เพราะหากไม่สามารถยุติปัญหาได้ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตราด
และที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลตราด เพื่อให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการด่วนแล้ว
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้บริหารโรงพยาบาลตราด เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า ปัญหาที่ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนเป็นความจริง และฝ่ายบริหารกำลังหาทางแก้ไขและได้ประชุมร่วมกันแล้ว 3 ครั้ง พบว่า แนวโน้มการแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยดี
ทั้งนี้ การทำงานของแพทย์ใช้ทุน หรือหมออินเทิร์น ยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะทำงานนอกเหนือจากการทำงานในเวลาราชการที่จะต้องเข้าเวรโดยเฉพาะห้องอุบัติเหตุที่ต้องอยู่หลังเวลา 18.00 น.
"นอกจากนี้ ยังมีเวรที่แพทย์อาวุโสขายเวรให้ซึ่งแพทย์เหล่านี้ก็คือ แพทย์ที่ควบคุมดูแล ทำให้แพทย์ใช้ทุนต้องรับซื้อ ซึ่งหลายรายต้องการเงินก็ยอมรับ หลายรายอาจจะไม่ต้องการ แต่ก็จำใจต้องรับเพราะหากไม่รับอาจจะมีผลต่อการประเมินผล ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้รับการแก้ไขในเรื่องการเข้าเวร โดยเฉพาะค่าเข้าเวรจะได้รับ 1,500 บาท ซึ่งถือว่ามาก" ฝ่ายบริหาร กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เนื้อหาในหนังสือที่กลุ่มแพทย์ใช้ทุนส่งถึงผู้รับผิดชอบในระดับกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารในระดับจังหวัดตราด มีใจความส่วนหนึ่งในช่วงท้ายระบุว่า
“พวกเราในฐานะแพทย์ใช้ทุนโรงพยาบาลตราด มีความรู้สึกไม่สบายใจในปัญหาข้างต้นที่เราพบทั้งในแง่การทำงานของเราเอง และที่สำคัญกว่านั้นคือ ความปลอดภัยและผลประโยชน์ของคนไข้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เราได้ทราบมาจากเพื่อนของพวกเราที่กระจายทำงานในสถานที่ต่างๆ ว่ามีปัญหาในลักษณะคล้ายกันในโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง ซึ่งบางครั้งนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขอนามัยของคนไข้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของแพทย์ผู้ทำงาน จนมีหลายกรณีที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาวต่อแพทย์ผู้ทำงานได้
พวกเราเชื่อว่า ภายใต้สภาวะสังคมที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง มีการผลักดันการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมทุกระดับ พวกเราในฐานะแพทย์ แม้จะเป็นแพทย์รุ่นใหม่ แต่ในฐานะบุคลากรที่ทำงานสาธารณสุขต่อไปในอนาคต พวกเราจึงเชื่อว่าการพัฒนาและการแก้ปัญหาที่มีอยู่มาอย่างยาวนานเหล่านี้คือ ก้าวสำคัญในการพัฒนาวงการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและยั่งยืนสืบต่อไป”
อย่างไรก็ดี นายแพทย์สุพจน์ แพรนิมตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตราด เผยว่า แพทย์ใช้ทุนที่เข้าปฏิบัติงานที่โรงพยาบาล ในทุกปีจะต้องผ่านการปฐมนิเทศเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงาน และมีระบบแพทย์พี่เลี้ยงที่จะคอยให้คำปรึกษาทั้งปัญหาการปฏิบัติงาน และแนวทางการรักษาผู้ป่วย
โดยเมื่อเกิดปัญหาขึ้นฝ่ายบริหารได้มีการหารือร่วมกันระหว่างแพทย์ใช้ทุนกับแพทย์เฉพาะทาง โดยมีนายแพทย์ฤชุพงศ์ ผู้ภักดี แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูก เป็นผู้ช่วยประสานงานและได้ข้อตกลงร่วมกัน ดังนี้ คือ
1.เวรห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ ได้จัดสรรเวรให้ได้ในสัดส่วนเหมาะสม 2.เวรชันสูตร และเวรตรวจผู้ป่วยนอกทั่วไปในเวลาราชการ กรณีแพทย์เฉพาะทางไม่สามารถอยู่ปฏิบัติงานได้ จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อมอบหมายให้แพทย์ใช้ทุนปฏิบัติงานแทนและแพทย์ใช้ทุนสามารถปฏิเสธได้
"สำหรับแผนกอายุรกรรมนั้น ปัจจุบันโรงพยาบาลตราด มีอายุรแพทย์ 1 คน อายุรแพทย์โรคหัวใจ 1 คน และอายุรแพทย์โรคไต 1 คน รวมเป็นแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรม จำนวน 3 คน ซึ่งโรงพยาบาลได้จัดให้แพทย์ใช้ทุนเข้าปฏิบัติงานร่วมด้วย และภายหลังการหารือจนได้ข้อตกลงร่วมกันจะมีการจัดอายุรแพทย์ทั่วไปเข้าเสริม เพื่อลดภาระงานของแพทย์ใช้ทุน รวมทั้งจัดสรรเวร และวางระบบปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้แพทย์ใช้ทุนปรึกษาและปฏิบัติงานได้สะดวกยิ่งขึ้น"
ส่วนกรณีที่แพทย์ต้องใช้เวรและเปิดคลินิกส่วนตัวนั้น โรงพยาบาลได้แก้ไขด้วยการกำหนดให้ช่วงเวลาที่แพทย์ไปเปิดคลินิกส่วนตัวจะต้องไม่มีเวรปฏิบัติงานในโรงพยาบาล หรือหากมีเวรแพทย์จะต้องมอบหมายเวรให้เป็นที่เรียบร้อย"
สำหรับการเปิดคลินิกส่วนตัวเป็นสิทธิของแพทย์ แต่จะต้องไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยแพทย์จะต้องจัดสรรเวลาให้ได้ ส่วนกรณีที่ไม่สามารถขึ้นเวรนอกเวลาราชการได้อาจมอบหมายให้แพทย์ใช้ทุน โดยความสมัครใจของแพทย์ใช้ทุน" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตราด กล่าว