เชียงใหม่ - ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดินนำคณะลงพื้นที่ “ม่อนแจ่ม” ติดตามปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หลังชาวบ้านร้องเรียน จนท.ป่าไม้ใช้อำนาจมิชอบด้วย กม.รื้อถอนที่พักรีสอร์ต ย้ำให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ชี้ชัดต้องพิสูจน์สิทธิให้ชัดเจนและต้องใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรมควบคู่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้านประธานวิสาหกิจชุมชนฯ ยืนยันครอบครองใช้ประโยชน์มาก่อนใช้กฎหมายที่ดิน และประกาศเขตป่า
วันนี้ (3 พ.ย. 63) ที่ม่อนแจ่ม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พันโท เทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 และคณะ ลงพื้นที่ม่อนแจ่มร่วมกับ นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) และนายพีระชาติ เรืองประดิษฐ์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) ตำบลโป่งแยง และตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นำที่ดินไปใช้ประกอบธุรกิจที่พัก-รีสอร์ตไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงหนองหอย ชี้หน่วยงานต้องพิสูจน์สิทธิให้ชัดเจน มุ่งรักษาป่าพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ วางแนวทางสร้างวิสาหกิจชุมชนอย่างเหมาะสมยั่งยืน
ทั้งนี้ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ประกอบการธุรกิจที่พักในพื้นที่ม่อนแจ่มร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนกรณีถูกกรมป่าไม้ดำเนินคดีอาญาในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และประกาศให้ระงับการประกอบธุรกิจ อีกทั้งมีคำสั่งให้รื้อถอนสถานประกอบการนั้น ในวันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมพบปะประชาชนที่เดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว โดยพบว่าป่าแม่ริมเป็นต้นน้ำลำธารจัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ มีขนาดพื้นที่กว่า 13,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่โครงการหลวงหนองหอยขอใช้ประมาณ 2,000 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ใช้ที่ดินทำเกษตรกรรมทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งมีราษฎรเข้าร่วมโครงการประมาณ 900 กว่าราย แต่ปัจจุบันได้มีการแปรสภาพกลายเป็นธุรกิจที่พัก-รีสอร์ต จำนวน 113 ราย โดยเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิจำนวน 82 ราย และถูกดำเนินคดีแล้ว 31 ราย เนื่องจากเข้าข่ายกระทำความผิดชัดเจน นำที่ดินไปใช้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงหนองหอย รวมทั้งมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม เปลี่ยนมือเจ้าของ หรือขายกิจการให้นายทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ราษฎรที่ทำเกษตรกรรมในพื้นที่ตามเดิมและไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติมจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้
พลเอก วิทวัสกล่าวต่อว่า สำหรับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินให้ดำเนินการภายใต้หลักการพิสูจน์ว่า คนอยู่ก่อนประกาศเขตป่าหรือไม่ หากเป็นกรณีคนอยู่ก่อนประกาศเขตป่า 2507 ก็ให้ดำเนินการโดยอาศัยประมวลกฎหมายที่ดิน 2497 สามารถไปเดินเรื่องออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินทำกินต่อไปได้ ถ้ากรณีมีการประกาศเขตป่าก่อนให้ใช้หลักการแก้ปัญหาตามสภาพข้อเท็จจริง โดยจะอาศัยการอ่านภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศและแผนที่ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อตรวจสอบร่องรอยการทำกินว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรมาประกอบการพิจารณาสิทธิในแต่ละแปลง นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนแม่บทบริหารจัดการพื้นที่และการอยู่ร่วมกันของชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ทำลายซึ่งกันและกัน คงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ดังเดิม อาจมีการพัฒนาในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนหรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ด้านนายวิชิต เมธาอนันต์กุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม เปิดเผยว่า ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เข้าตรวจสอบ และใช้อำนาจรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่พักรีสอร์ต ซึ่งเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ จึงได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ดำเนินการตรวจสอบครั้งนี้ ทั้งนี้ยืนยันว่าที่ดินที่ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่นั้นประชาชนในพื้นที่มีการครอบครองและใช้ประโยชน์มาก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายที่ดินและประกาศพื้นที่ป่า อีกทั้งการใช้ประโยชน์ด้วยการทำที่พักรีสอร์ตก็เป็นการดำเนินการในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนหรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไม่ได้เป็นการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าแต่อย่างใด จึงต้องการให้มีการพิสูจน์และตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาชุมชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักและต้องสูญเสียประโยชน์ขาดรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ควรจะได้รับไปอย่างน่าเสียดาย