กาญจนบุรี - ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ เผยท่อก๊าซระเบิดที่สมุทรปราการ เสียวถึง จ.กาญจนบุรี แนะเร่งหาวิธีป้องกันทั้งประเทศ ตามสุภาษิตที่ว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" ดีกว่า "วัวหายล้อมคอก"
จากกรณีเกิดเหตุท่อส่งก๊าซของบริษัท ปตท.ระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ทรัพย์สินและบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซได้รับความเสียหายจากการถูกเพลิงไหม้ และยังมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 3 ราย บาดเจ็บอีก จำนวน 52 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
ล่าสุด วันนี้ (26 ต.ค.) นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซ ปตท.รั่ว และเกิดระเบิดเปลวไฟได้เผาไหม้อย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ร่างกาย จิตใจผู้คน และทรัพย์สินที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้คิดถึงท่อส่งก๊าซ ไทย-พม่า ที่อยู่บริเวณชายแดนบ้านอีต่อง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยปี พ.ศ.2540 โครงการวางท่อส่งก๊าซของ ปตท. บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ภาคประชาชนได้ต่อสู้กับโครงการวางท่อส่งก๊าซ เนื่องจากการดำเนินการต้องตัดไม้ทำลายป่า ผ่านป่าลุ่มน้ำชั้น 1A ป่าไม้ที่เป็นบ้านของสัตว์ป่านานาชนิดต้องถูกทำลายลง และเรานึกถึงความปลอดภัยของประชาชนเนื่องจากการวางท่อส่งก๊าซของ ปตท.ต้องผ่านไร่ นา เทือกเขา ผ่านหน้าบ้านเรือนในเขตชุมชนด้วย
โดยเวลาผ่านมาถึงปี 2563 คำถามที่เรายังไม่ได้รับคำตอบ คือ ทำไมถึงต้องวางท่อส่งก๊าซ ไทย-พม่า ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ในเมื่อโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ที่มีแนวเขตชายแดนติดกับประเทศพม่า สามารถวางท่อส่งก๊าซตรงไปได้เลย
แต่กลับดำเนินการวางท่อส่งก๊าซอ้อมเข้ามาบริเวณบ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก ตำบลห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ ตำบลท่าเสา ตำบลวังกระแจะ ตำบลลุ่มสุ่ม บ้านป่ากิเลน อ.ไทรโยค บ้านลำทราย ตำบลจระเข้เผือก บ้านหนองหัววัว ตำบลหนองไผ่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย ไปที่ตำบลแก้มอ้น ตำบลด่านทับตะโก เข้าอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ทำให้เพิ่มพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งต้องเสียงบประมาณค่าดำเนินการในการวางท่อส่งก๊าซเพิ่มขึ้นเป็นเงินจำนวนมหาศาล
การเกิดเหตุท่อส่งก๊าซระเบิดที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เราต้องหันกลับมาทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่าท่อส่งก๊าซในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีตลอดเส้นทางนั้นมีความเสี่ยงภัยมากน้อยเพียงใด เพราะสิ่งที่ ปตท. ทำ EIA ให้ข้อมูลว่า ท่อส่งก๊าซเป็นเหล็กพิเศษที่มีความหนา แล้วเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ประชาชนชาวจังหวัดสมุทรปราการ ทราบมาก่อนไหมว่า บริษัท ปตท.นั้นใช้ท่อส่งก๊าซขนาดไหน เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเท่าไหร่ และความหนาของท่อส่งก๊าซขนาดเท่าไหร่ แล้วการที่ทาง ปตท.แจ้งว่า ภายในท่อจะมีลูกหมูวิ่งสำหรับตรวจงานโดยอัตโนมัติตลอดเส้นทางของการวางท่อ หากมีอะไรผิดปกติจะส่งสัญญาณ และปิดวาล์วอัตโนมัติทันที โดยจะไม่มีก๊าซออกมานอกท่อและจะไม่สร้างความเสียหาย แต่การที่ท่อส่งก๊าซระเบิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไรสาเหตุเป็นเพราะอะไร หรือเครื่องมืออัตโนมัติไม่ทำงาน
นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ที่ จ.กาญจนบุรี ในเอกสารรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เขียนระบุเอาไว้ว่า ท่อส่งก๊าซมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 นิ้ว ความหนาของท่อ 1 นิ้ว เท่ากับ 25 มิลลิเมตร กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ได้เข้าพื้นที่เพื่อวัดความหนาของท่อส่งก๊าซ ปรากฏว่าความหนาของท่อวัดได้เพียงแค่ 17.2 มิลลิเมตร ความหนาของเหล็กท่อส่งก๊าซหายไปถึง 7.8 มิลลิเมตร
ในขณะนั้นกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ได้แจ้งให้รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ส่งคนของท่านเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นความจริงตามที่ประชาชนแจ้งให้ทราบ จึงมีคำสั่งให้ ปตท.เปลี่ยนท่อความหนาเป็น 25 มิลลิเมตร แต่ ปตท.กลับอ้างว่าสั่งท่อใหม่ไม่ทัน หากวางท่อไม่แล้วเสร็จไม่สามารถรับก๊าซได้ตามสัญญา จะต้องถูกประเทศพม่าปรับ เรื่องนี้ถือว่า ปตท.ยิ่งใหญ่มากทำอะไรก็ไม่ผิด มากไปกว่านั้นคือ การขุดดินเพื่อฝังท่อก๊าซมีความลึกพียงแค่ 3 เมตรเท่านั้น
ซึ่งบริษัท ปตท.ได้ดำเนินการวางท่อส่งก๊าซ เหมือนกันหมดทั้งประเทศ ดังนั้น เมื่อท่อส่งก๊าซที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ระเบิด ท่อส่งก๊าซที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
ปตท.ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่า เหตุท่อส่งก๊าซระเบิดเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ และต้องหาวิธีป้องกันแนวท่อก๊าซตลอดเส้นทาง ตามสุภาษิตที่ "กันไว้ดีกว่าแก้" จะดีกว่า "วัวหายแล้วล้อมคอก" เพราะหากมีเหตุเสี่ยงภัยสูงจะย้ายท่อก๊าซไปที่อื่นก็ทำไม่ได้ ขอแนะนำว่ามีอยู่ทางเดียวที่จะป้องกันได้คือต้องย้ายชุมชนที่อาศัยอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซออกไปให้ห่างในระยะที่มีความปลอดภัย ซึ่งบริษัท ปตท.จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประชาชนอย่างคุ้มค่าจนเป็นที่พอใจกับทั้งสองฝ่าย
“อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ เมื่อครั้งที่กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ต่อสู้และคัดค้านก่อนมีการขุดเพื่อวางท่อส่งก๊าซไทย-พม่า ทาง ปตท.แจ้งว่าจะต้องดูแลชุมชนตลอดเส้นทางที่ท่อผ่าน จะปรับปรุงพัฒนาหน่วยงานของภาครัฐ ที่ให้การสนับสนุนการวางท่อของ ปตท. และที่สำคัญจะจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ทุก อบต.ที่แนวท่อก๊าซพาดผ่าน เราได้มีโอกาสสอบถามเจ้าหน้าที่ อบต.แห่งหนึ่งทราบว่า เวลาผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี ยังไม่เคยได้รับภาษี และไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออะไรจากบริษัท ปตท.เลย”