อุดรธานี - เละตุ้มเป๊ะแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง “คำชะโนด” ถูกชาวบ้านแฉแหลก กรรมการบริหารมีแต่คนของรัฐและกำนันผู้ใหญ่บ้านแบ่งปันส่วนผลประโยชน์กันเอง ทั้งค่าวางแผงขายลอตเตอรี่-ค่าจอดรถ-ค่าพราหมณ์พาทำพิธี ฯลฯ ซ้ำรถบัส-รถยนต์ก็ยัดเงินแลกลัดคิวได้ ชาวบ้านโนนเมืองร้องขอมีส่วนร่วมเพราะเป็นเจ้าแหล่งที่ตั้งเกาะลี้ลับ
วันนี้ (22 ต.ค.) ชาวบ้านบ้านโนนเมือง หมู่ 11 ต.บ้านม่วง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายกองตรีณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอบ้านดุง เพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านโนนเมือง ที่ตั้งของเกาะคำชะโนดกลับคืนมา โดยในหนังสือระบุข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย
1. สิทธิชุมชนขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่จะพึงมีอยู่ 2. ขอสอบถามหรือการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการบริหารคำชะโนด 3. กำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในคำชะโนดเกี่ยวกับจุดคัดกรอง พอจะยกเลิกหรือจะเปลี่ยนแปลงแบบวิธีที่ดีกว่านี้ได้ไหม โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากชาวบ้านต้องผ่านประชาคมจากหมู่บ้านเรา
ส่วนข้อเรียกร้องสุดท้าย คือ กรณีเจ้าหน้าที่คุกคาม ชรบ.(ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) บ้านโนนเมือง เพราะเราทำตามหน้าที่ของผู้ช่วยเจ้าพนักงาน หรือคำสั่งผู้ใหญ่บ้าน ออกคำสั่งเราทำงานในพื้นที่ของวัดยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคาม ซึ่งนายกองตรีณัชฐเดช รับเรื่องของชาวบ้านเอาไว้และจะนำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการคำชะโนดอีกครั้งในเดือนหน้า
ตัวแทนชาวบ้านรายหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้คำชะโนดเปลี่ยนแปลงไปมาก มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่คณะทำงาน หลังจากมีการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ทางคณะกรรมการคำชะโนดได้มีการตั้งจุดคัดกรองเพื่อให้คนเข้าไปกราบสักการะปู่ศรีสุทโธทั้งแบบจองออนไลน์ และแบบที่ไม่ต้องจองออนไลน์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันเพื่อเป็นการป้องกันตามมาตรการ แต่ตอนนี้กลับมีการจ่ายเงินตั้งแต่ 100-500 บาทเพื่อได้ลัดคิวเข้าไปกราบสักการะด้านใน โดยจะมีเจ้าหน้าที่บางรายเดินหารถบัสและเสนอว่า หากจ่ายเงิน 500 ต่อคัน สามารถลัดคิวเข้ากราบสักการะปู่ศรีสุทโธ คำชะโนดได้เลยไม่ต้องรอคิว และหากเป็นนักท่องเที่ยวที่มาแบบรถตู้หรือคนทั่วไปก็คิวละ 100-200 บาท โดยไม่ต้องต่อคิวให้รอนานเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องผลประโยชน์เก็บเงินจากแผงขายลอตเตอรี่ หมากพลู ลานจอดรถ เพราะเจ้าหน้าที่ อพปร.และ ชรบ.ที่ดูแลลานจอดรถก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ไม่ให้ทำหน้าที่ด้วย ทางชาวบ้านอยากให้ทางนายอำเภอเปลี่ยนคณะกรรมการคำชะโนดที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุดปัจจุบันที่เป็นอยู่ เนื่องจากเขาเหล่านี้กินเงินเดือนรัฐอยู่แล้ว และต้องมารับเงินเดือนจากคำชะโนดอีกวันละ 350 บาท ที่สำคัญกรรมการของชาวบ้านบ้านโนนเมืองซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการเพียง 5 คนเท่านั้น
ขณะที่นางสุดตา สมบุญ อายุ 75 ปี ชาวบ้านโนนเมือง เปิดเผยว่า ตนเป็นแม่ค้าที่คำชะโนด แต่ก่อนพอมีรายได้ ได้กินได้ใช้ แต่ตอนนี้ขายไม่ได้เลยเพราะมีแม่ค้าจากที่อื่นมาเยอะมาก อยากเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านที่พอจะได้ผลประโยชน์จากการดูแลคำชะโนดด้วย อยากให้โละกรรมการคำชะโนดที่เป็นผู้ใหญ่บ้านออกทั้งหมด
“บรรดาผู้ใหญ่บ้านที่เป็นกรรมการคำชะโนด แต่เช้าของแต่ละวันจะรีบมาที่นี่เลย ทำไมไม่ไปดูแลความสงบหรือสอบถามทุกข์สุขของลูกบ้านในหมู่บ้านตนเองบ้าง สิ่งที่พวกเราต้องการ คือ อยากให้ชาวบ้านโนนเมืองที่เป็นที่ตั้งของคำชะโนดมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในคำชะโนดมากกว่านี้” นางสุดตากล่าว
นายอุทัย ไพเราะ พราหมณ์พิธีในคำชะโนด เล่าเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่คำชะโนดตอนนี้มีหลายอย่างมีเรื่องของผลประโยชน์ และทางอำเภอยกเลิกประเพณีของที่นี่หลายอย่าง เช่น เมื่อถึงเดือน 6 ต้องเปลี่ยนผ้าให้ปู่ศรีสุทโธ แต่ตอนนี้ไม่มี บุญสงกรานต์ และการจัดบุญบั้งไฟในเดือน 6 ก็ไม่มี ตนอยู่ที่นี่มา 50 ปีแล้ว ชาวบ้านเขาทำประเพณีทำมานานแล้ว ส่วนการทำพิธีจะมีพราหมณ์พานักท่องเที่ยวทำ แต่ตอนนี้ทางอำเภอเป็นคนเลือกเอง พราหมณ์ในหมู่บ้านไม่ได้ทำแล้ว มีแต่ผู้ใหญ่บ้านใส่ชุดเขียวพาทำพิธีและบังคับให้บริจาคเงินลงในตู้
ในส่วนของคณะกรรมการคำชะโนด ชาวบ้านอยากให้เปลี่ยนกรรมการที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะตอนนี้เอาผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยใน 14 หมู่บ้านใน ต.บ้านม่วง มาเป็นกรรมการคำชะโนด เขามีเงินเดือนอยู่แล้วและต้องมารับเงินวันละ 350 บาทเพิ่ม ทำไมไม่เอาชาวบ้านบ้านโนนเมืองเข้าไปร่วม แต่ก่อนบอกว่าจะเอาผู้ใหญ่บ้านเอามาเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น
“แต่ตอนนี้พวกเขาไม่ออกแล้วเพราะเห็นผลประโยชน์ อยากให้นายอำเภอ หรือผู้ว่าฯ พิจารณาในการตั้งจุดคัดกรองจองคิว พอจะยกเลิกได้ไหมเพราะสถานการณ์เบาบางแล้ว และอยากให้มาตรวจสอบในการบริหารของกรรมการคำชะโนดว่าโปร่งใสหรือไม่มากกว่า” นายอุทัยกล่าว