ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชน่าห่วง ผู้ว่าฯ ผวาตั้งวอร์รูมจังหวัดรับมือพายุอีก 2 ลูกจ่อถล่มซ้ำหวั่นท่วมใหญ่ เผยกังวลหนักน้ำในเขื่อนต่างๆ ทยอยเต็ม โดยเฉพาะเขื่อนลำพระเพลิง และลำน้ำสาขาเริ่มเต็มปริ่ม ต้องเร่งผลักดันลงท้ายลำน้ำมูล ล่าสุด 4 อำเภอยังท่วม แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังใกล้ชิด สั่งทุกอำเภอรายงานแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง
วันนี้ (13 ต.ค.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า ล่าสุดน้ำท่วมที่ อ.ปากช่อง ระดับน้ำได้ลดลงคลี่คลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้กำลังติดตามสถานการณ์ฝนตกบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีฝนตกลงมาอีกว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด และต้องจับตาเป็นอย่างมากคือ ปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ที่มีการระบายน้ำลงมาตามคลองสาขา ทำให้มีบางจุดน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่เกษตรและชุมชน ทำให้เมื่อคืนที่ผ่านมาได้มีการหยุดระบายน้ำไว้ก่อน เพื่อให้มวลน้ำที่อยู่ในคลองน้ำสาขาได้ไหลผ่านพ้นพื้นที่ใกล้เขตเทศบาลเมืองปักธงชัย อ.ปักธงชัย ไปก่อน แล้วค่อยระบายลงมาอีก
ฉะนั้น จะต้องจับตาเขื่อนลำพระเพลิงเป็นพิเศษ เพราะปริมาณน้ำกักเก็บมีมาก หากปล่อยออกมามากก็จะล้นคลองสาขาไปกระทบท่วมพื้นที่ชุมชน ซึ่งจากการรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำลำพระเพลิง ล่าสุด มีปริมาณน้ำในอ่าง 145.361 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 93.78% ของความเก็บกัก 155 ล้าน ลบ.ม. และการบริหารจัดการน้ำเขื่อนขณะนี้ได้ลดปริมาณการระบายน้ำออกจากเขื่อนลง สถานการณ์โดยรวมยังสามารถควบคุมได้ดี แต่ยังคงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ส่วนภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมของ จ.นครราชสีมา ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ มี 17 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งน้ำท่วมบ้านเรือน น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ที่ท่วมขังประมาณ 90,000 ไร่ แต่ต้องสำรวจอีกทีว่าความเสียหายจะเป็นอย่างไร สำหรับภาวะน้ำท่วมล่าสุดมี 4 อำเภอวิกฤตหนัก มีที่ อ.ปากช่อง แต่น้ำได้ลดลงแล้ว ยกเว้นท้ายน้ำบริเวณ ต.จันทึก อ.ปากช่อง ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ ที่เหลือ คือ อ.ปักธงชัย อ.โนนสูง และ อ.โนนไทย
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้ามาอีก 2-3 ลูกนั้น ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้ตั้งวอร์รูม หรือศูนย์บัญชาการสถานการณ์ที่จังหวัด และให้ทุกอำเภอตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ติดตามเรื่องนี้และให้รายงานเรื่องฝนตกน้ำท่วมตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทางไลน์ และเรามีการประชุมกับทุกอำเภอทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อติดตามสถานการณ์ในแต่ละวัน เพราะแต่ละอำเภอได้รับผลกระทบและพื้นที่ค่อนข้างจะกว้างมาก การรอรายงานอาจจะไม่พอ ซึ่งตอนนี้รายงานเข้ามาตลอดแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง
“หากพายุเข้ามาอย่างที่คาดการณ์ตรงนี้เรามีความกังวลมาก เพราะปริมาณน้ำตามเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่กักเก็บไว้ตอนนี้เต็มแล้ว ถ้าเข้ามาอีกการระบายจะลำบาก ฉะนั้นตอนนี้ต้องเร่งผลักดันน้ำลงลำน้ำขนาดใหญ่ เช่น ลำตะคอง ต้องเร่งผลักดันน้ำลงไปลำน้ำมูล และตอนนี้ท้ายลำน้ำมูลก็เริ่มจะเต็มแล้ว ขณะนี้ต้องไปติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ปลายลำน้ำมูลเพื่อเร่งระบายน้ำพ้น จ.นครราชสีมา ไปโดยเร็ว เพื่อรองรับน้ำใหม่ที่เข้ามา” นายวิเชียร กล่าว
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ต้องเรียนประชาชนว่าพายุที่จะเข้ามาอีกช่วงวันที่ 14-15 ต.ค.นี้ ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะ จ.นครราชสีมา อาจได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งค่อนข้างจะหนักสำหรับ จ.นครราชสีมา ตอนนี้การระบายน้ำจะช้ากว่าในช่วงที่ผ่านมา เราจะแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนทุกระยะ ส่วนประชาชนกังวลกันมากว่ามวลน้ำจะเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจในตัวเมืองปักธงชัยนั้น ตอนนี้พยายามที่จะไปกั้นคูหรือคลองส่งน้ำที่เข้าพื้นที่เศรษฐกิจเมืองปักธงชัย ฉะนั้นเมื่อมีการปล่อยน้ำจากลำพระเพลิงพยายามที่จะกั้นไม่ให้น้ำออกนอกคลองส่งน้ำ และนอกลำน้ำที่ระบายออกมา ถ้าล้นจะทำให้น้ำเข้าไปยังพื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลเมืองปักธงชัย ตรงนี้จะติดตามอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์ โทรศัพท์สั่งการให้ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด ยอมรับว่าทางจังหวัดนครราชสีมากังวลกับการพยากรณ์อากาศที่จะมีพายุดีเปรสชันเข้ามาอีกในเร็วๆ นี้อีก 2 ลูก ซึ่งขณะที่วันนี้ (13 ต.ค.) จากอิทธิพลจากพายุหลิ่นฟา ก็ส่งผลให้ จ.นครราชสีมา มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งวัน
ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่ อ.ปากช่อง ทางจังหวัดต้องขอขอบพระคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้ อ.ปากช่อง กลับคืนสภาพโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานถุงยังชีพมาให้พี่น้องประชาชนชาว อ.ปากช่อง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 และช่วงที่ผ่านมา มีพระบรมวงศานุวงศ์ได้พระราชทาน ประทานถุงยังชีพ พระราชทานครัวพระราชทานมาให้พี่น้องประชาชนชาว อ.ปากช่อง และชาว จ.นครราชสีมา ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทุกพระองค์เป็นล้นพ้น กราบขอบพระคุณฝ่าพระบาทมา ณ โอกาสนี้
ส่วนเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนั้น เป็นไปตามขั้นตอนของทางราชการ ซึ่งจะต้องมีการสำรวจและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเรื่องของบ้านเรือนที่เสียหายทาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะช่วยเหลือเป็นลำดับแรก หาก อปท.เงินไม่เพียงพอก็จะมาใช้เงินทดรองราชการของจังหวัด ซึ่งเรามีเงินเพียงพอ ส่วนสิ่งสาธารณูปโภคจะต้องให้เจ้าของพื้นที่เป็นผู้ดูแล เช่น ถนน หากเงินไม่พอก็ต้องของบกลาง ส่วนพืชผลการเกษตรหลังจากน้ำลดจะต้องมีการสำรวจความเสียหายและขอรับงบมาทางจังหวัด เพื่อจะชดเชยพี่น้องเกษตรกรตามระเบียบต่อไป นายวิเชียร กล่าวในตอนท้าย