xs
xsm
sm
md
lg

โคราชยังท่วมอ่วม 5 อำเภอ จับตาเขื่อนใหญ่ลำตะคอง-ลำพระเพลิงน้ำพุ่ง เร่งพร่องรับมือพายุลูกใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เร่งพร่องน้ำต่อเนื่อง
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราชนำจิตอาสาพระราชทาน “บิ๊กคลีนนิ่ง” เมืองปากช่องหลังน้ำแห้งกลับสู่ภาวะปกติ พร้อมเร่งฟื้นฟู เผยเขื่อนลำตะคองระดับน้ำพุ่ง 80% ส่วนเขื่อนลำพระเพลิง 95% เร่งพร่องน้ำต่อเนื่องรับมือพายุลูกใหม่ ส่งผลน้ำท่วมท้ายเขื่อนพื้นที่ อ.ปักธงชัย ล่าสุดโคราชยังเผชิญน้ำท่วมอ่วม 5 อำเภอ

วันนี้ (12 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าสถานการณ์น้ำป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทะลักท่วมพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ล่าสุดทั้ง 6 ตำบล ได้แก่ ต.หมูสี ต.ขนงพระ ต.หนองน้ำแดง เขตเทศบาลตำบลปากช่อง ต.หนองสาหร่าย และ ต.จันทึก ระดับน้ำท่วมลดลงเข้าสู่ภาวะปกติทั้งหมดแล้ว

กลุ่มจิตอาสาพระราชทานบิ๊กคลีนนิ่ง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
โดยวันนี้ ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เป็นประธานประชุมสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ อ.ปากช่องและแนวทางในการฟื้นฟูหลังจากสถานการณ์อุทกภัยเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมได้ลงพื้นที่ชุมชนประปา เทศบาลเมืองปากช่อง ที่สะพานชุมชนประปา พบระดับน้ำในลำน้ำลำตะคองยังไหลเชี่ยวและมีสีขุ่น ขณะชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ทำความสะอาดบ้านเรือนหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ถนนภายในตัวเมืองปากช่องที่ถูกน้ำป่าทะลักท่วมทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้เป็นจำนวนมาก บางจุดถนนชำรุดเป็นหลุมใหญ่ รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านได้

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน กลุ่มจิตอาสาพระราชทาน นำโดย นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกันทำกิจกรรมกระจายออกทำความสะอาดเพื่อฟื้นฟูความเสียหายพื้นที่ประสบอุทกภัยภายหลังน้ำท่วมขังลดลงสู่ภาวะปกติในเขต อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ครั้งใหญ่ หรือบิ๊กคลีนนิ่ง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งสำรวจความเสียหายทั้งทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง สัตว์เลี้ยง และพื้นที่การเกษตร เพื่อเสนอของบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาและเร่งฟื้นฟูต่อไป


สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่รองรับน้ำจากพื้นที่ อ.ปากช่องทั้งหมด สำนักงานชลประทานจังหวัดนครราชสีมารายงานว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองมีจำนวน 251 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. โดยเมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างมากถึง 12.57 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำตะคองยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 63 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนเขื่อนลำพระเพลิง ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำมากถึง 146.78 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 155 ล้าน ลบ.ม. ทางเขื่อนได้เร่งระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่องวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้มีบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร ท้ายเขื่อน ได้รับความเสียหายถูกน้ำคลองธรรมชาติล้นตลิ่งเข้าท่วม เช่นในตำบลตะขบ ตำบลบ่อปลาทอง และตำบลตูม เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่การเกษตร ส่วนบ้านเรือนราษฎรยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานกำลังเร่งออกให้ความช่วยเหลือด้วยการนำกระสอบทรายไปกั้นในจุดที่น้ำล้นตลิ่งเพื่อบรรเทาความเสียหายในเบื้องต้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะยังคงมีแนวโน้มว่าจะมีฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลพายุลูกใหม่ที่จะพัดเข้าประเทศไทยอีกหลายลูกในช่วงนี้ตามการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา


สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครราชสีมาโดยภาพรวม ล่าสุดวันนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นครราชสีมา รายงานว่า ยังมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งหมด 5 อำเภอ ประกอบด้วย 1. อ.ปักธงชัย จำนวน 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.บ่อปลาทอ ต.สะแกราช ต.ตะเข็บ ต.สำโรง ต.ตูม ต.ดอน รวม 11 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 118 ครัวเรือน

2. อ.โชคชัย จำนวน 1 ตำบล คือ ต.ท่าราชขาว จำนวน 1 หมู่บ้าน เดือดร้อน 1 ครัวเรือน 3. อ.โนนสูง จำนวน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.เมืองปราสาท ต.จันทร์อัด ต.บิง รวม 5 หมู่บ้าน เดือดร้อน 207 ครัวเรือน 4. โนนไทย จำนวน 2 ตำบล ต.ด่านจาก ต.กำปัง รวม 10 หมู่บ้าน เดือดร้อน 144 ครัวเรือน และ 5. อ.เมืองนครราชสีมา จำนวน 1 ตำบล คือ ต.โคกสูง จำนวน 1 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 30 ครัวเรือน

สภาพถนนในตัวเมืองปากช่องหลังน้ำลด





สภาพน้ำลำตะคองไหลผ่าน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ล่าสุด



เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 95% ของขนาดความจุ ต้องเร่งระบายน้ำต่อเนื่อง



เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ล่าสุดปริมาณเพิ่งสูงถึง 80% ของความจุแล้ว

น้ำที่เร่งระบายออกจากเขื่อนลำพระเพลิงล้นตลิ่งเข้าท่วมถนน สะพาน พื้นที่ ต.บ่อปลาทอง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ชาวบ้านและเด็กนักเรียนต้องอาศัยเรือของเจ้าหน้าที่ในการเดินทางสัญจร










กำลังโหลดความคิดเห็น