ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ เผยโคราชเผชิญน้ำท่วมอ่วม 3 อำเภอ เดือดร้อน 400 ครัวเรือน อ.ปากช่องหนักสุดน้ำป่าเขาใหญ่ทะลักจม 6 ตำบล ราษฎรเดือดร้อนกว่า 6,200 คน ถนน สะพาน บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เกษตรเสียหายยับ ระทึกผู้ว่าฯ โคราชลุยน้ำเชี่ยวกรากช่วยชีวิต 2 หนูน้อยปลอดภัย
วันนี้ (10 ต.ค.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา และนายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ นายอำเภอปากช่อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยที่ติดอยู่ภายในบ้านที่กำลังถูกน้ำท่วม บริเวณบ้านไร่ หมู่ที่ 18 ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ ในระหว่างลงพื้นที่ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต.จันทึก จิตอาสาภัยพิบัติ ลุยน้ำเชี่ยวกรากช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน โดยการใช้เชือกลำเลียงเด็ก 2 คน และผู้ใหญ่ออกจากพื้นที่ ณ พื้นที่ประสพภัย ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้อย่างปลอดภัย
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากรายงานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา พบว่า ช่วงวันที่ 27 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่งผลให้ จ.นครราชสีมา เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยาย 2563 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2563 ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา จ.นครราชสีมา ได้รับผลกระทบจากพายุโนอึล จึงทำให้ลำน้ำสายหลัก และลำน้ำสาขามีปริมาณน้ำมาก และเมื่อมีปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่จึงทำให้เกิดน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมขัง รวมทั้งสิ้น จำนวน 10 อำเภอ 38 ตำบล 110 หมู่บ้าน 5 ชุมชน ได้แก่ อ.ปากช่อง อ.ปักธงชัย อ.เมืองนครราชสีมา อ.สูงเนิน อ.สีคิ้ว อ.ชุมพวง อ.พิมาย อ.ห้วยแถลง อ.ลำทะเมนชัย และ อ.โชคชัย ราษฎรได้รับผลกระทบจำนวน 1,079 ครัวเรือน ถนน 9 สาย สะพาน 2 แห่ง พืชไร่/พืชสวน 4,042 ไร่ และนาข้าว 740 ไร่ ความเสียหายเพิ่มเติมอยู่ระหว่างการสำรวจ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
นายวิเชียรกล่าวต่อว่า ล่าสุดขณะนี้มีน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ รวม 6 ตำบล 1 เทศบาลนคร 1 เทศบาลเมือง 11 หมู่บ้าน 5 ชุมชน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 397 ครัวเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 6,940 คน ดังนี้ อ.ปากช่อง น้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลหลากลงลำตะคอง สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ บ้านท่ามะปรางค์ ต.หมูสี อ.ปากช่อง ลดลงและมวลน้ำได้ไหลผ่าน ต.หมูสี ต.ขนงพระ ต.หนองน้ำแดง ขณะนี้ได้คงอยู่ในพื้นที่เทศบาลเมืองปากช่อง และไหลไปที่บ้านท่างอย ต.จันทึก และจะไหลลงสู่เขื่อนลำตะคองต่อไป
ล่าสุด ระดับน้ำในเทศบาลเมืองปากช่องเริ่มลดลง โดยมีผลกระทบจำนวน 1 เทศบาลเมือง 2 ตำบล รวม 4 ชุมชน 6 หมู่บ้าน บ้านเรือนถูกน้ำท่วม ประมาณ 308 ครัวเรือน ถนน สะพาน ระบบประปา ระบบไฟฟ้า สิ่งสาธารณะประโยชน์ และพื้นที่การเกษตรเสียหาย อย่างมาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ประมาณ 6,200 คน ดังนี้
1. เขตเทศบาลเมืองปากช่อง จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนราชประชา ชุมชนสะพานดำ ชุมชนโรงสูบ ชุมชนประปา บ้านเรือนถูกน้ำท่วม ประมาณ 200 ครัวเรือน ถนน สะพาน ระบบประปา ระบบไฟฟ้า สิ่งสาธารณประโยชน์ และพื้นที่การเกษตรเสียหายอย่างมาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 3,500 คน
2. ตำบลหนองสาหร่าย จำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านท่ามะนาว หมู่ที่ 10 บ้านเขาเสด็จ หมู่ที่ 23 บ้านเรือนถูกน้ำท่วม ประมาณ 58 ครัวเรือน ถนน สิ่งสาธารณประโยชน์ และพื้นที่การเกษตรเสียหายอย่างมาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ประมาณ 1,500 คน
3. ตำบลจันทึก จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านซับม่วง หมู่ที่ 4 บ้านท่างอย หมู่ที่ 13 บ้านพรหมประดิษฐ์ หมู่ที่ 14 และบ้านไร่ ผู้ประสบภัยประมาณ 50 ครัวเรือน ถนน สิ่งสาธารณประโยชน์ และพื้นที่การเกษตรเสียหายอย่างมาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ประมาณ 1,200 คน
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานข้าวกล่อง โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้แทนมอบข้าวกล่องให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอปากช่อง โดยจัดตั้งจุดอพยพจำนวน 5 จุด ได้แก่ โรงพยาบาลปากช่องนานา จำนวน 30 คน โรงเรียนสัญลักษณ์ จำนวน 30 คน โรงเรียนรุ่งอรุณ จำนวน 30 คน มูลนิธิสว่างวิชชาฯ 40 คน และวัดท่ามะนาว จำนวน 30 คน รวม 160 คน
กรณีน้ำท่วมเส้นทางในพื้นที่ทางหลวงหมายเลข 2090 ตอนปางแก-อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระหว่าง กม,21+520-กม .21+700 มีน้ำท่วมผิวการจราจรทั้งสองด้าน ระดับน้ำประมาณ 5 ชม. ซึ่งรถยนต์สามารถสัญจรไปมาได้ การแก้ไขปัญหาโดยนำป้ายเตือนน้ำท่วมทาง ป้ายลูกศร กรวยสีส้มกันแนวทางอำนวยการจราจร สำหรับถนนมิตรภาพสายเก่า ผ่านกลางเมืองปากช่อง ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง รถเล็กผ่านได้
ขณะที่ อ.ปักธงชัย ประสบภัยน้ำท่วมรวม 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 89 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อน 740 คน ระดับน้ำคลองธรรมชาติลำเชียงสา ต.อุดมทรัพย์
อ.วังน้ำเขียว เอ่อล้นเข้าท่วมหมู่ที่ 5, 15 ต.สะแกราช บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 35 ครัวเรือน อพยพจำนวน 4 ราย (พักบ้านญาติ) ถนน สิ่งสาธารณะประโยชน์ และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ประมาณ 400 คน ปัจจุบันปริมาณน้ำลดลง และจะไหลไปที่ลำน้ำมูลในพื้นที่อำเภอโชคชัย
สำหรับระดับน้ำที่ไหลลงเขื่อนลำพระเพลิง เอ่อท่วมหมู่ที่ 13 ตำบลตะขบ บ้านเรือนประชาชน ได้รับผลกระทบ จำนวน 6 ครัวเรือน ถนน สิ่งสาธารณประโยชน์ และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 100 คน ระดับน้ำทรงตัว โดยน้ำทั้งหมดจะไหลลงเขื่อนลำพระเพลิง
ส่วนปริมาณน้ำที่ระบายจากท้ายเขื่อนลำพระเพลิง ระบายน้ำผ่านคลองธรรมชาติ เอ่อท่วมทางเข้าหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อปลาทอง บ้าเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 48 ครัวเรือน ถนน สิ่งสาธารณะประโยชน์ และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 240 คน ระดับน้ำประมาณ 1 เมตร ระดับน้ำทรงตัว โดยน้ำจะไหลไปที่ลำน้ำมูลในพื้นที่ อ.โชคชัย ระดับการระบายน้ำลำน้ำมูลในพื้นที่ อ.โชคชัย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.โนนสูง และ อ.พิมาย ระดับน้ำทรงตัว
ทั้งนี้ ตนได้กำชับทางอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพระเพลิง ลำมูล ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย อ.โชคชัย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.โนนสูง อ.พิมาย อ.ชุมพวง อ.ลำทะเมนชัย และอำเภอเมืองยาง ประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำ บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ และบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งลำน้ำธรรมชาติ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์กรณีเกิดน้ำล้นตลิ่ง และน้ำไหลหลากในพื้นที่ และได้เร่งรัดให้อำเภอทุกอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งสำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย