ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้รับจ้างโครงการศึกษาการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาเมืองพัทยา เผยผลศึกษาใกล้สมบูรณ์ พร้อมส่งแผนแม่บทให้เมืองพัทยา และ ครม.พิจารณาในเร็วๆ นี้ ส่วนกระแสย้ายพื้นที่สถานีจอดรถไฟฟ้าไปยัง ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง ยังไม่ชัดเจน
วันนี้ (6 ต.ค.) นายสิรภพ สุวรรณเกรส์ ผู้ประสานงานโครงการศึกษาและวางแผนแม่บทการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเมืองพัทยา หรือโมโนเรล ได้เปิดเผยถึงกระแสเรื่องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ก่อสร้างสถานีจอดรถไฟฟ้าความเร็วสูงพัทยาไปยังพื้นที่บ้านชากแง้ว ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่อาจส่งผลกระทบต่อแผนการก่อสร้างสถานีจอดในเมืองพัทยา และอาจกระทบต่อระบบการขนส่งเดิมที่วางไว้ซึ่งจะไม่เชื่อมโยงกันว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร
และในเบื้องต้น คณะทำงานยังคงเสนอแผนการใช้พื้นที่เดิมตาม TOR ที่กำหนดไว้ ส่วนอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเขต ต.ห้วยใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้รับจ้างซึ่งมีที่ดินว่างเปล่านับ 100 ไร่ หรือจะใช้พื้นที่บริเวณโรงบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ซึ่งมีพื้นที่จัดสรรรองรับไว้ประมาณ 60 ไร่ คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งเดินหน้าพิจารณาเพื่อให้ได้คำตอบอย่างเร็วที่สุด
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเมืองพัทยา หรือโมโนเรล เกิดขึ้นตามนโยบายของคณะกรรมการ EEC ที่มีแผนในการพัฒนา 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาหลายด้าน เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และระบบโลจิสติกส์
รวมทั้งการผลักดันให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก จึงต้องวางแผนขับเคลื่อนการพัฒนาให้สอดคล้องต่อแผนของนโยบายหลักของ EEC โดยเฉพาะระบบโครงข่ายด้านขนส่งสาธารณะในเมืองที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก
โดยเมืองพัทยา ได้กำหนดให้มีการศึกษาการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะแบบรถไฟฟ้าในเมืองพัทยา ซึ่งผลการศึกษาได้กำหนดรูปแบบของรถไฟฟ้าไว้ 3 ประเภท คือ แบบบนพื้นถนน หรือ Tram แบบยกระดับ หรือ BTS หรือ Monorail และแบบใต้ดิน หรืออุโมงค์ และได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยหลักทั้งด้านกายภาพ สภาพถนนเดิม เส้นทาง และการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงบประมาณการลงทุน
และจากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา พบว่า โครงสร้างรถไฟฟ้าแบบคร่อมรางยกระดับ หรือระบบโนโรเรล (Monorial) เป็นโครงสร้างที่เหมาะสมกับพื้นที่เมืองพัทยามากที่สุด จึงแร่งดำเนินการออกแบบและวางแผนในเรื่องเส้นทาง สถานีรับส่ง สถานีจอด และศูนย์ซ่อม โดยพิจารณาความเหมาะสมของเส้นทาง ผลกระทบด้านการเดินทาง และทัศนียภาพ รวมถึงการเวนคืนที่ดิน
นอกจากนั้น ผลการเสนอแนะ 4 เส้นทางการเดินรถเสียงส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนการใช้เส้นทางสีเขียว ระยะทางรวม 8.3 กม.และอีก 1.8 กม.เพื่อมุ่งหน้าสู่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย จาก 13 สถานีจอด
โดยจะวิ่งตามเส้นทางจากสถานีรถไฟพัทยาที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง มาตามถนนสายมอร์เตอร์เวย์เข้าถนนพัทยาเหนือไปถึงวงเวียนปลาโลมา ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนพัทยาสายสอง ไปจนถึงแยกทัพพระยา และมุ่งตรงสู่ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ซึ่งมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารแรก 16 บาท และ กม.ต่อไปอีก กม.ละ 2.80 บาท แต่ไม่เกิน 45 บาทตลอดเส้นทาง
ขณะที่แผนการดำเนินงานจะแบ่งระยะเวลาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระหว่างปี 2563-2564 กำหนดเส้นทางเดินรถครอบคลุม
ส่วนระยะกลางช่วงที่ 1 ระหว่างปี 2565-2569 จะดำเนินการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีเขียว และเส้นทางสายสีเหลือง ซึ่งเป็นระบบรถไฟรางคู่สายชลบุรี-สัตหีบ
และระยะกลางช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2570-2574 จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่วิ่งจากพื้นที่เทศบาลเมืองหนองปรือ เข้าสู่ถนนพัทยาใต้มุ่งหน้าสู่สถานีพักรถบริเวณโรงเรียนเมืองพัทยา 8 ซึ่งจะมีการจัดทำเป็น Station หรือจุดเชื่อมโยงระหว่างกัน
ส่วนแผนระยะยาวระหว่างปี 2575-2579 จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีแดง ที่วิ่งจากซอยชัยพฤกษ์ 2 เข้าสู่ถนนจอมเทียนสายสอง ถนนพัทยาสาย 2 และวงเวียนปลาโลมา
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าระบบ “โนโนเรล” จะมีลักษณะของการจัดทำเป็น 2 รางวิ่งสวนกันบนสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ยกสูงกว่าระดับถนนเดิมประมาณ 18 เมตร การก่อสร้างจะเน้นใช้พื้นที่เกาะกลางถนนเป็นหลัก หรือแนวถนนที่มีผลกระทบน้อยเพราะจะมีเพียงพื้นที่ก่อสร้างตอม่อ หรือ Pier ที่กว้างเพียง 1.8 เมตร เท่านั้น
โครงการนี้จะมีการเวนคืนที่ดินไม่มากนัก แต่จะใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 20,805 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการจัดทำอาคารจอดและจรหรือ TOD ในพื้นที่กว่า 40 ไร่ที่พรั่งพร้อมไปด้วยชอปปิ้งมอลล์ โรงแรม คอนโดมิเนียม และสกายพาร์ค ในพื้นที่กว่า 3.8 แสน ตร.ม.อีก 8.7 พันล้านบาท
ขณะที่แนวทางการลงทุนได้มีการนำเสนอทั้งในรูปแบบของ PSC หรือ PPP ในลักษณะการร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อพิจารณา โดยคาดว่าจะเสนอผลการศึกษาต่อเมืองพัทยาและ ครม.ได้ในเร็ววันนี้