เทศบาลนครอุดรธานีเดินหน้าปรับภูมิทัศน์เมือง ตามแนวคิด Walkable city ส่งเสริมให้ผู้คนสร้างพฤติกรรมการเดินในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เริ่มจากการร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จัดทำโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเพื่อลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับในช่วงมรสุม และลดปัญหาการตกหย่อนกีดขวางของสายไฟและสายเคเบิลรวมถึงเสาไฟฟ้าล้มกีดขวางทาง ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ยังทำให้ทัศนียภาพของเมืองไม่สวยงามอีกด้วย
โดยมีเป้าหมายการดำเนินการวางท่อและบ่อพักสายระบบไฟฟ้าแรงต่ำและแรงสูงบริเวณถนนสายหลักย่านธุรกิจภายในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ทั้งหมด 4 ระยะ รวม 7.5 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินโครงการระยะที่ 1 บริเวณถนนอุดรดุษฎีถึงถนนโพศรี ช่วงหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติถึงวงเวียนน้ำพุ และจากวงเวียนน้ำพุถึงสามแยกตัดผ่านถนนอำเภอ รวมระยะทาง 1.3 กิโลเมตร
พร้อมด้วยแผนต่อยอดเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินของผู้คนมากยิ่งขึ้น ด้วยโครงการปรับปรุงทางเท้าใหม่จัดทำทางลาดสำหรับผู้พิการ พร้อมนำป้ายโฆษณารวมถึงกันสาดและสิ่งของจากร้านค้า บ้านเรือนที่ยื่นล้ำและกีดขวางทางเท้าออกทั้งสองฝั่งถนนเพื่อความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ภายใต้ภารกิจ Udon Clean Clear ซึ่งจะมีการลงพื้นที่ปฏิบัติการสำรวจ รื้อถอน พร้อมสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมสร้างเมืองสะอาด ในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์
และกำหนดแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวริมทางเดินปลูกไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ พร้อมมอบหมายเจ้าหน้าที่เทศบาลในโครงการ “คนละ(ต้น)ไม้ คนละ(ร่วม)มือ” ดูแลรักษาต้นไม้ในเมืองคนละ 1 ต้น ให้สมบูรณ์แข็งแรง และคอยตัดแต่งกิ่งก้านใบไม่ให้กีดขวางทางเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มความร่มรื่นสวยงามให้ทัศนียภาพตลอดสองข้างทาง
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการสร้างจุดเด่นและอัตลักษณ์ของเมือง ด้วยการตอบรับนโยบายจังหวัดอุดรธานีในการกำหนดโซนพื้นที่ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมถนนสายหลักและย่านธุรกิจทาสีอาคารบ้านเรือนของตนให้เป็นสีเหลืองราชินูทิศสีต้นแบบดั้งเดิมของอาคารราชินูทิศหรือพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทยอยทาสีสถานที่ราชการ เช่น ศาลากลาง ศาลหลักเมือง โรงพยาบาล สถานศึกษา ไปแล้วบางส่วน โดยเทศบาลนครอุดรธานีได้รับหน้าที่ในการออกเทศบัญญัติเพื่อบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ พร้อมอำนวยความสะดวกในการช่วยประชาชนทาสีอาคารบ้านเรือนอีกด้วย
ซึ่งเมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จจะทำให้เมืองมีเอกลักษณ์ สวยงาม เป็นระเบียบ และคาดว่าจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมออกมาเดินและจับจ่ายใช้สอยตามร้านค้าริมทางมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดในระยะยาว