xs
xsm
sm
md
lg

คาดตุลาฯ-พฤศจิกาฯ นี้เริ่มได้! กฟภ.-เทศบาลฯ ทุ่ม 500 ล้านย้ายสายไฟลงดินทั่วเมืองเชียงราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - กฟภ.-เทศบาลฯ กางแผนทุ่มงบ 500 ล้านย้ายสายเคเบิลไฟฟ้าลงใต้ดิน 5 เส้นทางเมืองเชียงรายนำร่อง รอตรวจแบบ-สภาฯ ไฟเขียว-จัดซื้อจัดจ้าง คาดเริ่มก่อสร้างได้ตุลาฯ-พฤศจิกาฯ 63 นี้ เชื่อปีเดียวเสร็จ


การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และเทศบาลนครเชียงรายได้ลงนาม MOU ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบเคเบิลไฟฟ้าใต้ดิน 5 เส้นทางนำร่อง ได้แก่ 1. ถนนรัตนาเขต ตั้งแต่สี่แยกวัดกลางเวียง-สถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.เชียงราย แห่งที่ 1 และถนนบรรพปราการ ตั้งแต่หอนาฬิกา-สี่แยกประตูสลี ระยะทาง 1.45 กิโลเมตร 2. ถนนธนาลัย ตั้งแต่จุดตัดถนนรัตนาเขต-จุดถนนรัตนาเขต ระยะทาง 0.85 กิโลเมตร

3. ถนนธนาลัย ตั้งแต่จุดตัดถนนรัตนาเขต-ถนนพหลโยธิน ระยะทาง 0.85 กิโลเมตร 4. ถนนบรรพปราการ ตั้งแต่จุดตัดถนนรัตนาเขต-หอนาฬิกา ระยะทาง 0.75 กิโลเมตร และ 5. ถนนบรรพปราการ ตั้งแต่จุดตัดถนนรัตนาเขต-ถนนพหลโยธิน ระยะทาง 0.75 กิโลเมตร


ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่ร่วมเป็นสักขีพยาน กล่าวว่า เชียงรายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวธรรมชาติ ศิลปะ สปอร์ตซิตี้ ฯลฯ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือเรื่องภูมิทัศน์สถานที่ทางศิลปวัฒนธรรม งานประเพณีต่างๆ มหกรรมสำคัญประจำปี เช่น งานดอกไม้ ฯลฯ ถูกบดบังจากเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้ารวมทั้งสายสื่อสารต่างๆ ดังนั้น การก่อสร้างระบบเคเบิลไฟฟ้าใต้ดินจึงถือเป็นเรื่องที่ดีมาก และยังช่วยแก้ปัญหาภัยธรรมชาติโดยเฉพาะวาตภัยที่บางครั้งทำให้เสาไฟฟ้าล้มและกระแสไฟฟ้าดับ

นายปิยพจน์ รุธิรโก รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ.กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนจะแบ่งเป็น 2 โครงการ คือ โครงการถนนเฉลิมพระเกียรติ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร กฟภ.ดำเนินการเองหมด โดยใช้งบประมาณร่วมกับทุกจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละประมาณ 1 กิโลเมตร ประมาณ 4,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยจังหวัดละประมาณ 50 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนดำเนินการงานโยธาของฝ่ายเทศบาล 45% และ กฟภ.55% ซึ่งกรณีของ 5 เส้นทางดังกล่าวใช้งบประมาณรวม 488.76 ล้านบาท แยกเป็นงบประมาณจากเทศบาล 205 ล้านบาท และ กฟภ.ประมาณ 283 ล้านบาท


ซึ่งขณะนี้งานตรวจสอบแบบคืบหน้าแล้วกว่า 95% และหากไม่มีข้อขัดข้องสภานครเชียงรายก็จะนำเข้าพิจารณาอนุมัติ จากนั้น กฟภ.ก็จะจัดซื้อจัดจ้างได้ ขั้นตอนนี้คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน และจะก่อสร้างได้ราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกกายน 63 หรืออาจจะช้าไปอีกไม่กี่เดือนเพราะมีสายสื่อสารของเอกชนหลายราย แต่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะทีโอทีจะนำสายของตัวเองลงใต้ดินควบคู่กันไปด้วย และหากเริ่มดำเนินการก็จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 360 วัน หรือ 1 ปี เป็นงานโยธา เช่น ขุด วางท่อ ฯลฯ ประมาณ 6-8 เดือนที่เหลือเป็นงานวางระบบสายไฟฟ้าและอื่นๆ ตามขั้นตอน

ด้านนายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า ที่จริงเชียงรายจะเริ่มโครงการเคเบิลไฟฟ้าใต้ดินตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน ซึ่งได้รับงบแล้วกว่า 100 ล้าน แต่เกิดข้อขัดข้องต้องคืนงบประมาณไป สำหรับครั้งนี้โครงการนี้ทำประชาพิจารณ์เสร็จแล้วและประชาชนให้การสนับสนุน และล่าสุดได้สอบถามทางจังหวัด-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง กฟภ.แล้วก็เชื่อว่าจะเดินหน้ารวมถึงสามารถขยายไปยังถนนสายอื่นๆ ได้อีกในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น