xs
xsm
sm
md
lg

ส.ท.ลำปางรวมตัวร้องผู้ว่าฯ-ป.ป.ช. จี้สอบขบวนการลักไก่ทำประชาพิจารณ์ย้ายสายไฟลงดินส่อเป็นเท็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำปาง - เทศบาลนครลำปางงานเข้าอีกแล้ว..ส.ท.รวมตัวหอบหลักฐานร้องผู้ว่าฯ-ป.ป.ช.สอบขบวนการลักไก่ทำประชาพิจารณ์ย้ายสายไฟลงใต้ดิน ส่อใช้เอกสารเท็จ ชี้พิรุธใช้คน 5-6 คนทำแบบสอบถาม หลักฐานชัด 4


นางสาวอมลยา เจนตวนิชย์ ส.ท.นครลำปาง เขต 2 พร้อมด้วยนายสมหมาย พงษ์ไพบูลย์, นายแพทย์ วัฒนา วานิชสุขสมบัติ ส.ท.นครลำปาง เขต 1, นายสมบูรณ์ คุรุภากรณ์ ส.ท.นครลำปาง เขต 3 และนายกิตติ จิวะสันติการ ส.ท.เขต 2 ซึ่งเป็นประธานเทศบาลนครลำปาง ได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมหลักฐานถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผ่านนางศุกลรัตน์ จันทร์มณี ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม เมื่อเร็วๆ นี้

เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กับพวก กรณีการทำเอกสารประชาพิจารณ์โครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นแบบเคเบิลใต้ดิน เฟส 1 ถนนพหลโยธิน ตั้งแต่สี่แยกดอนปาน ถึงถนนดวงรัตน์ ของเทศบาลนครลำปาง


นอกจากนี้ยังได้ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.จังหวัดลำปางเพื่อให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกเทศมนตรีนครลำปางชะลอการสั่งจ่ายเงินกว่า 53 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการฯ จนกว่าจะมีการตรวจสอบเสร็จสิ้นด้วย

กลุ่ม ส.ท.นครลำปาง ผู้ร้อง เปิดเผยว่า หลังจากนายกิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรื่องขอเข้าร่วมโครงการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดิน เมื่อ 7 ก.พ. 62 โดยให้เหตุผลว่าเทศบาลนครลำปางพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้ดินเป็นโครงการที่จะสร้างทัศนียภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้จังหวัดลำปาง จึงขอเข้าร่วมโครงการฯ ช่วงตั้งแต่บริเวณสามแยกหน้าค่ายสุรศักดิ์มนตรีถึงบริเวณสี่แยกดอนปาน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ในปีงบประมาณ 2563




โดยยอมรับเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ ดังนี้
1. เทศบาลนครลำปางเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณด้านโยธา และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณด้านไฟฟ้า
2. เทศบาลนครลำปางเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานสื่อสารในการจัดเตรียมงบประมาณและแผนงานในการนำระบบสื่อสารลงดินให้สอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
3. เทศบาลนครลำปางยินยอมให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ออกแบบ ประมาณการและก่อสร้างงาน ทั้งด้านไฟฟ้าและด้านโยธา
4. เทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดำเนินการทำประชาพิจารณ์
5. เทศบาลนครลำปางจะดำเนินการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) หรือสัญญาทางปกครอง (MOA) ร่วมกันกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค




ต่อมา 6 มิ.ย. 62 กฟภ.-เทศบาลนครลำปางได้ลงนาม MOU โครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินบริเวณช่วงตั้งแต่สามแยกค่ายสุรศักดิ์มนตรีถึงสี่แยกดอนปานอำเภอเมืองจังหวัดลำปาง ซึ่งระบุว่าเทศบาลฯ ตกลงเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่และรับผิดชอบประสานงานในการย้ายและการรื้อถอนระบบสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ระบบสื่อสารพาดอยู่บนระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเดิมของ PEA อีกทั้งเทศบาลฯ ต้องจัดทำประชาพิจารณ์และอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

จากการตรวจสอบพบว่า ช่องทางการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่เทศบาลนครลำปางได้ดำเนินการคือ 1. ทางไปรษณีย์ 2. เว็บไซต์ของทางเทศบาลฯ 3. ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 4. งานประชาสัมพันธ์และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประมาณการงบฯ ที่ใช้สำหรับโครงการนี้มีมูลค่า 53,884,600 บาทถ้วน มีการดำเนินการส่งแบบสำรวจให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ร่วมแสดงความคิดเห็นระหว่างวันที่ 3-14 ก.พ. 63 และให้ส่งแบบสำรวจแสดงความคิดเห็นผ่านทางไปรษณีย์ถึงกองวิชาการและแผนงานเทศบาลนครลำปางภายในวันที่ 14 ก.พ. 63


แต่เมื่อตรวจสอบแบบสำรวจแสดงความคิดเห็นดังกล่าว พบว่ามีการจัดทำเอกสารขึ้นโดยบุคคลเพียง 5-6 คน และปรากฏหลักฐานชัดเจนมีจำนวน 4 คน คือ

บุคคลที่ 1 ทำแบบสำรวจความคิดเห็น ระบุว่าพักอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครลำปาง และประทับตราส่งไปรษณีย์แม่วัง ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง ลงวันที่ 14 ก.พ. 63 จำนวน 89 ฉบับ และทำแบบสำรวจฯ ระบุที่พักอยู่นอกเขตเทศบาลนครลำปาง และประทับตราไปรษณีย์แม่วัง ลงวันที่ 14 ก.พ. 63 จำนวน 101 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 190 ฉบับ โดยการเขียนเป็นลายมือของคนเดียวกันทั้งหมด

บุคคลที่ 2 ทำแบบสำรวจฯ โดยระบุว่าพักอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครลำปาง และมีการประทับตราไปรษณีย์แม่วัง ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง ลงวันที่ 14 ก.พ. 63 จำนวน 48 ฉบับ และทำแบบสำรวจฯ ระบุพักอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลนครลำปาง และประทับตราไปรษณีย์แม่วัง ลงวันที่ 14 ก.พ. 63 จำนวน 31 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 79 ฉบับ

บุคคลที่ 3 ทำแบบสำรวจฯ โดยระบุพักอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครลำปาง และประทับตราไปรษณีย์เมืองปาน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ลงวันที่ 11 ก.พ. 63 จำนวน 13 ฉบับ ทำแบบสำรวจความคิดเห็นอันเป็นเท็จ โดยระบุที่พักอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลนครลำปางและประทับตราโดยส่งไปรษณีย์เมืองปาน ลงวันที่ 11 ก.พ. 63 จำนวน 5 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 18 ฉบับ

บุคคลที่ 4 ทำแบบสำรวจฯ โดยระบุอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครลำปางและประทับตราไปรษณีเมืองปาน ลงวันที่ 11 ก.พ. 63 จำนวน 20 ฉบับ และระบุว่าพักอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลนครลำปาง-ประทับตราไปรษณีย์เมืองปาน ลงวันที่ 11 ก.พ. 63 จำนวน 16 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 36 ฉบับ


นอกจากนี้ แบบสำรวจความคิดเห็นซึ่งส่งโดยไปรษณีย์เมืองปาน รวม 54 ฉบับ ไม่ได้มีการปิดแสตมป์อากร ตามระเบียบ และเทศบาลนครลำปางไม่ได้ขออนุญาตชำระค่าฝากเป็นรายเดือนไว้กับที่ทำการไปรษณีย์เมืองปาน

ขณะที่เทศบาลนครลำปางได้มีการนำข้อมูลการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าว ประกาศให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกันเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 63 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2543 ข้อ 12 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


จากการตรวจสอบไทม์ไลน์ของโครงการ จะเห็นว่าโครงการดังกล่าวให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น (เดือน ก.พ.) อุดหนุนงบประมาณให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 53,884,600 บาท (เดือน มี.ค.-พ.ค.) และก่อสร้าง (เดือน มิ.ย.-ธ.ค.)

นอกจากนี้ ผู้ร้องยังได้ยื่นหนังสือถึง กฟภ.ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงนายกเทศมนตรีฯ เพื่อให้ชะลอการจ่ายเงินให้ กฟภ.ตามโครงการดังกล่าวจนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น