xs
xsm
sm
md
lg

กฟภ.เตรียมประเดิมเปิดจ่ายระบบไฟฟ้าใต้ดิน “โคราชมหานครไร้สาย” 2.4 พันล้าน 25 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กฟภ.โคราช เตรียมประเดิมเปิดจ่ายระบบไฟฟ้าใต้ดิน “โคราช มหานครไร้สาย” 2.4 พันล้าน บริเวณถนนราชดำเนิน ช่วงที่ 1 เต็มรูปแบบ ตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ในวันที่ 25 ก.ย.นี้

วันนี้ (12 ก.ย.) บริเวณริมถนนราชดำเนิน ใกล้ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายศรีธร ญาณะนันท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จังหวัดนครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่งานซ่อมบำรุง กฟภ.นครราชสีมา ร่วมกันรื้อถอนระบบไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดจ่ายระบบไฟฟ้าใต้ดิน ตามโครงการ “โคราชมหานครไร้สาย” เต็มรูปแบบ โดยนำสายไฟฟ้าสายเคเบิลลงใต้ดิน ก่อนใช้รถเครนรื้อถอนเสาไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ตามริมถนนทั้ง 2 ฝั่งออกทั้งหมด


ทั้งนี้ กฟภ.นครราชสีมา ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ระยะที่ 1 แบ่งเป็น 6 ช่วง ช่วงที่ 1 และ 2 ดำเนินการแล้วเสร็จใน 1 ปี (2563) ซึ่งจะจัดพิธีเปิดจ่ายระบบไฟฟ้าใต้ดิน “โคราชมหานครไร้สาย” บริเวณถนนราชดำเนิน ช่วงที่ 1 ตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ในวันที่ 25 กันยายน 2563 นี้

นายศรีธร ญาณะนันท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของ กฟภ. สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 อนุมัติเห็นชอบให้ กฟภ. ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้าง และปรับปรุงระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในพื้นที่โครงการ เพื่อเพิ่มความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาและอุปสรรคด้านการปฏิบัติการบำรุงรักษาและความปลอดภัย พื้นที่ดำเนินการ 4 เมือง ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครนครราชสีมา เมืองพัทยา และเทศบาลนครหาดใหญ่ วงเงินลงทุน 11,668.56 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 8,748.56 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 2,920 ล้านบาท ในส่วนของเทศบาลนครนครราชสีมา วงเงินลงทุน 2,433,000,000 บาท


นายศรีธร กล่าวต่อว่า หลังจากนำสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดินแล้ว ระบบจำหน่ายไฟฟ้าจะมีความมั่นคงด้วยระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า ฝนตกลมแรง ซึ่งอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณามาเกี่ยวสายไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้ อีกทั้งรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ด้วยระบบไฟฟ้าใต้ดิน มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ จึงสามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสังคมเมือง และนับวันการใช้ไฟฟ้ายิ่งมีบทบาทกับเรามากขึ้น และช่วยทำให้ทัศนียภาพสวยงามด้วย

ประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญ กฟภ. เร่งมือนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเพื่อทัศนียภาพที่สวยงาม อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวต่างชาติ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา ในนาม กฟภ.ขอขอบคุณจังหวัดนครราชสีมา ขอบคุณเทศมนตรีนครนครราชสีมา ขอบคุณตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา และทุกภาคส่วน รวมถึงสื่อมวลชน ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาทุกท่านที่ให้การความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานของ กฟภ. และที่ขาดไปไม่ได้ ขอบคุณผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมที่มีแผนนำสายสื่อสารลงสู่ใต้ดิน ให้แล้วเสร็จในช่วงระยะเวลาดำเนินการของ กฟภ.




กำลังโหลดความคิดเห็น