ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดเส้นทางชีวิตดั่งละคร “บิ๊กชุม” พล.ร.อ.ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ลำดับที่ 69 แห่งราชนาวีไทย จากอดีตลูกคนงานเหมืองแร่ อาศัยข้าวก้นบาตรพระ หาเงินเรียนหนังสือด้วยตัวเอง สู่ตำแหน่งผู้คุมกำลังรบหลัก กองทัพเรือ
พล.ร.อ.ชุมศักดิ์ นาควิจิตร หรือ “บิ๊กชุม” ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ลำดับที่ 69 แห่งราชนาวีไทย ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ถือเป็นบุคคลที่มีประวัติชีวิตน่าสนใจที่เชื่อว่าน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ในเรื่องของการใฝ่ดี แม้ฐานะทางครอบครัวจะสุดแสนยากจนต้องใช้ชีวิตในวัยเยาว์อย่างยากลำบาก แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญที่จะฉุดให้ชีวิตตกต่ำแต่อย่างใด
วันนี้ (29 ก.ย.) Manager Online จะพาไปทำความรู้จักกับบุคคลผู้น่าสนใจท่านนี้กับการทำหน้าที่ผู้คุมกำลังรบหลักของกองทัพเรือ และแม้จะใกล้ถึงวันที่ต้องละวางหน้าที่ แต่ความรักที่มีต่ออาชีพ และการยึดหมั่นในพระราชดำรัส สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ว่า "เกียรติยศไม่ได้มาด้วยชาติกำเนิด แต่เกิดจากการกระทำ" ก็จะยังคงอยู่ตลอดไป
กำเนิดเด็กบ้านนอกฐานะยากจน ดิ้นรนเรียนหนังสือหนีอาชีพกรรมกรเหมืองแร่
พล.ร.อ.ชุมศักดิ์ เกิดเมื่อ 5 เม.ย.2503 เป็นชาว อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา วัยเยาว์พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 2/1 ม.4 ต.ถ้ำ อ.ตะกั่วทุ่ง ซึ่งเป็นบ้านพักชั่วคราวของบริษัทหลวงอนุภาษ ผู้เป็นนายจ้างของบิดา มีพี่น้องทั้งสิ้น 10 คน และพี่น้องส่วนใหญ่จบการศึกษาเพียงแค่ ป.4 หรือสูงสุดแค่การศึกษาภาคบังคับ ตัวท่านเองป็นบุตรคนที่ 5 ซึ่งถือว่าโชคดีมีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงกว่าภาคบังคับ
และด้วยความที่ไม่อยากเป็นแค่กรรมกรเหมืองแร่เช่นเดียวกับพี่ๆ จึงดิ้นรนหาเงินเรียนหนังสือในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งด้วยตนเอง เนื่องจากไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐได้ทัน เพราะความเป็นคนเรียนดีจึงทำให้ผู้บริหารโรงเรียนเกิดความเมตตาพิจารณาไม่ต้องจ่ายค่าเทอม
เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ.3) จึงเริ่มเดินตามความฝันที่อยากเป็นทหารเรือ จึงรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนๆ หางานทำบริเวณขุมเหมืองเก่าหลังบ้าน ด้วยการดำน้ำลงไปขุดแร่ใช้เครื่องเป่าลมช่วยหายใจ และใช้การหายใจทางปาก
“จากนั้น “หลวงพ่อ” อาจารย์พิเศษจากโรงเรียนเก่าก็ได้พาเข้าศึกษาต่อในกรุงเทพฯ โดยมีเงินติดตัวเพียง 3,800 บาท ซึ่งเป็นเงินที่คุณแม่ไปหยิบยืมจากญาติมา และในขณะนั้นก็เป็นช่วงที่โรงเรียนทหารเหล่าทัพต่างๆ ปิดรับสมัครหมดแล้ว เหลือเพียง “นักเรียนจ่าทหารเรือ” เพียงแห่งเดียวที่ยังเปิดรับสมัครจึงตัดสินใจเข้าสอบเข้าเรียนเป็นทหารนาวิกโยธิน”
จากชีวิตเด็กบ้านนอกสู่รั้วโรงเรียนทหาร ทำให้ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ขึ้นเนื่องจากค่าใช้จ่ายทุกอย่าง กองทัพเรือจะเป็นผู้ออกให้ทั้งหมด รวมทั้งการได้รับอาหารครบ 3 มื้อ ซ้ำยังถูกหล่อหลอมกาย ใจสู่การเป็นนักรบแห่งราชนาวีไทยอย่างเต็มความภาคภูมิ
พล.ร.อ.ชุมศักดิ์ ยังบอกอีกว่า ด้วยผลการเรียนที่ดีทำให้ได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร โดยไม่ต้องสอบและขึ้นเหล่า ซึ่งชีวิตในโรงเรียนนายเรือ จบชั้นปีที่ 1 ด้วยระดับเกรดเฉลี่ย 3.4-3.5 อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเลือกไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายเรือต่างประเทศได้แต่ไม่คิดที่จะไป และเลือกที่จะเรียนต่อในชั้นปีที่ 2 จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าห้องเรียนมาตลอด และเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 5 ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านักเรียนนายเรือ
สำเร็จการศึกษาเป็นว่าที่เรือตรี เมื่อ 31 ม.ค.2528 ได้รับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เกียรตินิยมอันดับสอง ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.34 (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
โดยก้าวแรกของการรับราชการ ได้เลือกไปอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหารกับเพื่อนอีก 3 คน ทำหน้าที่ดูแลนักเรียนเตรียมทหารเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นต้นหน เรือหลวงวิทยาคม สังกัดกองเรือตรวจอ่าว และรับราชการเรื่อยมาด้วยความวิริยะอุตสาหะจนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ถือเป็นระดับ 5 เสือ แห่งกองทัพเรือไทย และดำรงตำแหน่งสูงสุดในชีวิตรับราชการ
สำหรับประวัติการรับราชการที่สำคัญคือ ต้นหน ร.ล.วิทยาคม ผู้ควบคุมเรือ ต.216 ผู้บังคับการเรือหลวงนาคา ผู้บังคับการเรือหลวงสู้ไพรินทร์ สังกัดกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ ผู้บังคับการเรือหลวงคีรีรัฐ กองเรือปราบเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ เจ้ากรมการเงินทหารเรือ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ และผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
และสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจและถือเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้ก่อนการเกษียณอายุราชการ คือ การได้เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาเจิมเรือหลวงภูมิพล เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2562
นอกจากนั้น ยังได้สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมแก่กองทัพเรือ เช่น การจัดสร้างสวนรวงผึ้งเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณอ่างเก็บน้ำ กองเรือยุทธการ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่สัตหีบ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ
การสร้างอาคารอเนกประสงค์ให้แก่ทัพเรือภาคที่ 2 การปรับปรุงศาล พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บนยอดเขาแหลมปู่เจ้า ที่สง่างามสมพระเกียรติ และการจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ “เรือ ต.91” ให้เป็นอนุสรณ์สถานแด่ชาวทหารเรือ