xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้ว! อุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ "เรือ ต.91" รำลึกในหลวง ร.๙

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดแล้ว! อุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ "เรือ ต.91" อ่าวดงตาลสัตหีบ ผู้บัญชาการทหารเรือมาเองหวังเผยแพร่ความรู้เรื่องตำนานกองทัพเรือ ที่แสดงถึงความเกี่ยวพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับกองทัพเรือ และประเทศชาติ

เย็นวานนี้ (27 ก.ย.) พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย นาวาเอกหญิง อุบลวรรณ รุดดิษฐ์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นประธานเปิดอุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ "เรือ ต.91" ณ อ่าวดงตาล หน้าสโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี พล.ร.อ.ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในฐานะหน่วยพื้นที่กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ พร้อมด้วยคณะทหารชั้นผู้ใหญ่ และอดีตกำลังพลประจำเรือเข้าร่วมในพิธีอย่างสมเกียรติ

สำหรับเรือ ต.91 ถือเป็นเรือที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์การต่อเรือรบไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่๙ ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการออกแบบและต่อเรือ




โดยเมื่อครั้งเสด็จฯ กลับจากทอดพระเนตรการต่อเรือยนต์รักษาฝั่ง ณ ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.2503 ได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่กองทัพเรือว่า “กองทัพเรือควรต่อเรือประเภทนี้ใช้เองบ้าง” จนนำมาซึ่งโครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.91 ได้เสร็จสมบูรณ์ เข้าประจำการในปี พ.ศ.2511 และพระองค์ยังได้เสด็จฯ มาประทับบนเรือเพื่อทำการทดสอบสมรรถนะด้วยพระองค์เอง

จากพระมหากรุณาธิคุณดังกล่วจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการต่อเรือใช้เองของกองทัพเรือ และประเทศชาติ จึงเปรียบได้ว่า เรือ ต.91 เป็นเรือของพ่อ

ทั้งนี้ เรือ ต.91 มีประวัติการใช้ราชการยาวถึง 51 ปี (5 ทศวรรษ) กระทั่งกองทัพเรือได้พิจารณาเห็นว่าเรือมีสภาพทรุดโทรมมาก การซ่อมบำรุงไม่มีความคุ้มค่า จึงเสนอกระทรวงกลาโหมให้ปลดออกจากระวางประจำการ ตั้งแต่ 1 ต.ค.62




เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า กองทัพเรือควรจะอนุรักษ์เรือรบเก่าไว้ และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางทหาร เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชน ให้เป็นตำนานของกองทัพเรือ ที่แสดงถึงความเกี่ยวพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับกองทัพเรือ และประเทศชาติ

โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ เรือของพ่อ “เรือ ต.91” จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สืบสานพระราชปณิธานในการต่อเรือ เพื่อพึ่งพาตนเองมาจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งการเรียนรู้อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง (Landmark) อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่






กำลังโหลดความคิดเห็น