xs
xsm
sm
md
lg

อีสานบนผิดหวังโนอึลเติมน้ำเข้าเขื่อนไม่ถึงครึ่ง “ห้วยหลวง” อาจงดส่งน้ำนาข้าวหากฝนไม่ตกซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - ผิดหวังอย่างแรง พายุฝน “โนอึล” ทำฝนตกในพื้นที่ภาคอีสานไม่มาก น้ำไหลลงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำน้อย อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงมีน้ำกักเก็บแค่ 32% ขณะที่อ่างเก็บน้ำตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน ย้ำเตือนประชาชนใช้น้ำประหยัด หากไม่มีฝนตกลงมาอีกต้องงดส่งให้นาข้าว

หะแรกที่กรมอุตุฯ พยากรณ์แจ้งเตือนรับมือพายุไต้ฝุ่น “โนอึล” เข้ามาเยือนไทยระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย. 63 จะมีฝนตกทั่วไทย โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือจะตกหนักมากเป็นพิเศษ ชาวบ้านส่วนใหญ่แม้จะกลัวผลกระทบที่จะตามมากับแรงพายุฝนโซนร้อน แต่อีกใจหนึ่งก็มีความหวังที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในภาคอีสานจะมีน้ำฝนเข้ามาเติมเต็มเพื่อใช้ทำนาทำไร่ในหน้าแล้ง

แต่ปรากฏว่าปริมาณฝนตกลงในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนค่อนข้างน้อย หลังห่าฝนจากโนอึลพัดผ่านพ้นไป ณ วันที่ 21 ก.ย. อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี ที่มีความจุ 135.5 ล้าน ลบม. มีน้ำไหลเข้ามาเพียง 2 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำกักเก็บแค่ 32.8% เท่านั้น

ส่วนเขื่อนลำปาวมีน้ำกักเก็บ 39% ของความจุ เขื่อนอุบลรัตน์ 20% เขื่อนสิรินธร 74% เขื่อนลำตะคองมีน้ำกักเก็บ 41% เขื่อนจุฬาภรณ์มีน้ำกักเก็บ 52% ฯลฯ


นายวิชัย จาตุรงค์กร ผอ.โครงการส่งน้ำบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี ระบุว่า อุดรธานีได้รับอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โนอึล” เพียงเล็กน้อย มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ห้วยหลวง วันที่ 18-20 กันยายนที่ผ่านมาไม่มาก

รวมมีน้ำเก็บกักอยู่เพียง 44.45 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32.79% ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำ 93.985 ล้าน ลบ.ม. หรือ 69.33% ซึ่งตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ฤดูฝนปี 2563 จะสิ้นสุดในราวกลางเดือนตุลาคม 2563

จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะหากต่อไปไม่มีฝนตก หรือน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพิ่มเติม น้ำที่อยู่ในอ่างฯ จะต้องสงวนไว้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง 2563-2564 และขอให้เกษตรกรในพื้นที่ทำการเก็บกักน้ำไว้ในแปลงนาให้มากที่สุด เพราะใกล้จะถึงเวลาต้นข้าวตั้งท้องออกรวง ซึ่งเป็นช่วงที่ใช้น้ำมากที่สุด

ทั้งนี้ โครงการอ่างฯ ห้วยหลวงจำเป็นต้องงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร เว้นแต่จะมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น


ขณะที่อ่างเก็บน้ำอื่นก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกัน เช่น อ่างเก็บน้ำกุดลิงง้อ อ.เมือง ความจุ 6.4 ล้าน ล.บม. ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชผักขนาดใหญ่ และแหล่งปลูกผักปลอดภัย ป้อนตลาดและห้างสรรพสินค้าอุดรธานี มีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 1.48 ล้าน ลบ.ม. หรือมีน้ำอยู่เพียง 22.98% หรืออ่างห้วยสามพาด อ.หนองแสง มีความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งปลูกพืชผัก (ค้าง) มีปริมาณน้ำเหลือ 7.5 ล้าน ลบ.ม. หรือ 48.10% ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 70% มีทั้งหมด 7 อ่างฯ

สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณกักเก็บมากกว่า 70% ประกอบด้วย ฝายกุมภวาปี (ทะเลบัวแดง) อ.กุมภวาปี, อ่างหนองสำโรง อ่างบ้านจั่น อ.เมือง, อ่างห้วยทราย อ.น้ำโสม, อ่างฯ หนองปะโค อ.กุมภวาปี, อ่างลำพันชาด อ่างลำพันชาดน้อย อ.วังสามหมอ, อ่างฯ ห้วยตะคองใหญ่ อ่างห้วยน้ำม้า อ.บ้านผือ โดยในภาพรวมของ จ.อุดรธานี อ่างเก็บน้ำ 19 แห่ง ความจุรวม 338.99 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำอยู่ 205.13 ล้าน ลบ.ม. หรือ 60.51% ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 21.18%


กำลังโหลดความคิดเห็น