แม่สาย/ท่าขี้เหล็ก - ทางการท้องถิ่นพม่าค้านไทยงัดมาตรการสกัดโควิด ห้ามรถพม่าข้ามฝั่งเข้าขนสินค้าหน้าโกดังชายแดนแม่สาย ชี้ทำต้นทุนเพิ่ม ขณะที่ท่าขี้เหล็กไร้ผู้ติดเชื้อ บอกตกลงกันไม่ได้ก็ต้องปิดด่านฯ
นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย และนายซาน เมี่ยซอ นายอำเภอท่าขี้เหล็ก พม่า ได้นำหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการข้ามแดนระหว่างไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย-ท่าขี้เหล็ก พม่า ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ศุลกากร ตม. สาธารณสุข หอการค้า ฯลฯ หารือกันครั้งล่าสุดวานนี้ (14 ก.ย.) ถึงมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในพม่าระลอก 2
ฝ่ายไทยแจ้งว่า การขนส่งสินค้าจากฝั่งไทยมีการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่นำสินค้า เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ จากฝั่งแม่สายข้ามไปยังท่าขี้เหล็กนั้น คนขับรถบรรทุกสามารถอยู่ในเมืองท่าขี้เหล็กได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมงหรือห้ามค้างแรม ซึ่งยังไม่พบปัญหาใดๆ
แต่กลับพบมีการใช้รถตู้บรรทุกสินค้ามากกว่า 200 คันจากฝั่งประเทศพม่าข้ามมาขนสินค้าจากฝั่งไทย เข้ามารับสินค้าตามโกดังต่างๆ ในเขต อ.แม่สาย ก่อนจะขนสินค้ากลับฝั่งประเทศพม่าไป ขณะที่คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย ได้มีประกาศฉบับที่ 35 กำหนดให้มาตรการใหม่ เปิดลานเปลี่ยนถ่ายสินค้าบริเวณด่านถาวรสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 โดยจะไม่อนุญาตให้รถยนต์ตู้จากพม่าเข้าพื้นที่ชั้นในของไทยอีก และจะมีการตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการขนถ่ายสินค้าดังกล่าวเป็นการเฉพาะด้วย
ขณะที่นายซาน เมี่ยซอ นายอำเภอท่าขี้เหล็ก และคณะอ้างว่า ณ ขณะนี้ท่าขี้เหล็กไม่ได้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการตรวจสอบรถยนต์หรือแม้แต่ผู้คนตามมาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวด โดยเฉพาะตามถนนสายท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง ส่วนการจะกันไม่ให้รถตู้พม่าข้ามไปขนสินค้าตามโกดัง และให้ขนถ่ายสินค้ากันบริเวณด่านพรมแดนนั้นเป็นการเพิ่มภาระผู้ประกอบการ ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยและอาจทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นายอำเภอแม่สายยังคงยืนยันที่จะให้ใช้มาตรการใหม่ดังกล่าว ทางการท้องถิ่นพม่าจึงแจ้งว่าหากจะคุมเข้มแบบนั้นทางฝ่ายประเทศพม่าก็จะดำเนินการในลักษณะเดียวกันด้วยการห้ามไม่ให้รถบรรทุกสินค้าไทยเข้าไปในตัวเมืองท่าขี้เหล็ก และให้ใช้ชาวพม่าลำเลียงสินค้าบริเวณหน้าด่านสะพานข้ามลำน้ำสายฝั่งพม่าแทน
การหารือไม่ได้ข้อยุติ ทำให้นายซาน เมี่ย ซอ นายอำเภอท่าขี้เหล็ก ได้หยิบยกข้อตกลงระหว่างไทย-พม่า ที่ระบุว่าหากการหารือระหว่างประเทศตกลงกันไม่ได้ ทางการพม่าก็อนุญาตให้ส่วนท้องถิ่นสามารถปิดด่านพรมแดนได้เลย ซึ่งกรณีนี้หากไม่สามารถใช้มาตรการเดียวกันก็จะแจ้งให้มีการปิดด่านถาวรสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 ฝั่งประเทศพม่า ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงจะนำข้อหารือแจ้งต่อผู้ว่าฯ หาข้อตกลงกันอีกครั้ง
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ที่เข้าร่วมการประชุมด้วย กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีการปิดด่านพรมแดนไทย-พม่า แต่มูลค่าการค้าผ่านสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 ก็ถือว่ามีมากเป็นอันดับต้นๆ ของจุดส่งออกสินค้าของประเทศไทย
ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหารือให้ลงตัวก่อนจะดำเนินการจริง ซึ่งถ้าต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าหน้าด่านพรมแดนก็จะต้องใช้แรงงานขนอย่างน้อย 300-400 คน แต่การป้องกันไวรัสโควิด-19 ก็เป็นสิ่งจำเป็น เบื้องต้นทั้งสองฝ่ายจึงจะนำข้อหารือไปแจ้งต่อระดับจังหวัด และคาดว่าจะมีการหารือกันอีกครั้งในอีก 3-4 วันข้างหน้านี้
ทั้งนี้ ตามรายงานของด่านศุลกากรแม่สายระบุว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค.-มี.ค. 2563 มีการส่งออกสินค้าผ่าน อ.แม่สายไปยังประเทศพม่ารวม 7,203,202,249.21 บาท แยกเป็นการส่งออก 6,578,110,495.39 บาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ และนำเข้า 625,091,753.82 บาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร ขณะที่ด่านควบคุมโรค อ.แม่สายระบุว่า วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมามีรถตู้ขนสินค้าจากพม่าเข้ามาฝั่ง อ.แม่สาย รวม 497 เที่ยว และวันที่ 12 ก.ย. จำนวน 492 เที่ยว มีผู้เดินทางเข้ามากับรถรวม 214 คน
ด้านสถานการณ์โรคโควิด-19 เชียงรายไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกันมากว่า 5-6 เดือนแล้ว ส่วนฝั่งรัฐฉานปัจจุบันมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่เมืองตองจี 1 ราย และที่เมืองเชียงตุงห่างจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประมาณ 168 กิโลเมตร จำนวน 3 ราย แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อใน จ.ท่าขี้เหล็ก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีชาวพม่าลักลอบข้ามฝั่งจากกท่าขี้เหล็กเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องวางกำลังและอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ตลอดแนวชายแดน ก่อนจะมีมาตรการควบคุมการขนถ่ายส่งสินค้าดังกล่าว