ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ทีมนักวิจัย วพบ.โคราชสุดยอด! พัฒนาโปรแกรมออกกำลังกายด้วยการร้องเพลงเพื่อขยายทรวงอกและปริมาตรปอดในผู้สูงอายุ ชี้ชัดทำให้ออกซิเจนเข้าปอดมากส่งผลสุขภาพดีแข็งแรงอายุยืนยาว ร้องแค่วันละ 40 นาที 3 วัน/สัปดาห์ เพียงสามเดือนเห็นผลลัพธ์อย่างมหัศจรรย์ พร้อมดันผลงานวิจัยใช้ประโยชน์ในชุมชนให้มากที่สุด
วันนี้ (14 ก.ย.) นางหฤทัย กงมหา นักวิจัยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี (วพบ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า ปัญหาที่มักพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุคือการหายใจเหนื่อยหอบและความทนต่อกิจกรรมทางกายลดลงเพราะรู้สึกเหนื่อยง่าย เป็นอาการแสดงต่อสมรรถภาพการทำหน้าที่ของปอด เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกายที่มีผลต่อการหายใจ พบการโก่งและงอของกระดูกสันหลังระดับอก ทำให้ช่องอกมีปริมาตรลดลง และกระดูกอ่อนบริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกซี่โครงกับกระดูกหน้าอกแข็งมากขึ้น เกิดการจำกัดต่อความยืดหยุ่นของทรวงอก ทำให้การขยายและยุบตัวของทรวงอกในขณะหายใจเข้าและหายใจออกลดลง
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายยังส่งผลให้ปริมาตรอากาศของการหายใจต่อครั้งลดลง ปริมาตรปอดลดลง การขยายทรวงอกลดลง การฝึกการหายใจแบบลึก เป็นการหายใจเข้าลึกทำให้เกิดแรงดันให้ปอดขยายเพิ่มขึ้น แล้วกลั้นหายใจไว้ในช่วงที่หายใจเข้าลึก สูดให้นานที่สุด จะส่งผลให้ปอดขยาย นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการขยายทรวงอก เพราะช่วยให้ข้อต่อมีการเคลื่อนไหวและเป็นการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้มีการขยายทรวงอกเพิ่มขึ้น การแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดเพิ่มขึ้น
นางหฤทัยกล่าวอีกว่า ทีมงานวิจัยได้นำวิธีการออกกำลังกายด้วยการร้องเพลงประยุกต์การร้องตามรูปแบบการหายใจแบบลึก คือการหายใจเข้าลึก กลั้นลมหายใจนานจนไม่สามารถทนได้ จากนั้นเปล่งเสียงร้องเพลงตามเนื้อเพลงจนหมดลมหายใจ เนื่องจากการร้องเพลงเป็นนันทนาการอย่างหนึ่ง และกิจกรรมที่ผู้สูงอายุให้ความสนใจร่วมมือในการทำกิจกรรม ทีมงานวิจัยจึงมาจัดทำเป็น “โปรแกรมการออกกำลังกายด้วยการร้องเพลงต่อการขยายทรวงอกและปริมาตรปอดในผู้สูงอายุ” เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางด้านร่างกายในผู้อายุ ช่วยการขยายทรวงอกและปริมาตรปอดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ผลการศึกษาจะเป็นแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยจะต้องร้องเพลงฯ ตามโปรแกรมเป็นเวลา 40 นาทีต่อวัน ทำ 3 วันต่อสัปดาห์ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 12 สัปดาห์หรือประมาณ 3 เดือนก็จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงของการหายใจในผู้สูงอายุ โดยจะพบว่าหายใจได้ยาวขึ้น
เมื่อผู้สูงอายุหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปได้เต็มปอดก็จะส่งให้ระบบในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม และเป็นผู้สูงวัยที่อารมณ์ดี แจ่มใส สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว ซึ่งในโปรแกรมนี้ไม่ได้เน้นให้ผู้สูงอายุร้องเพลงเพราะ และไม่จำเป็นต้องร้องจบเพลง อาจจะร้องเฉพาะท่อนเพลงที่เราชอบ และออกเสียงได้ง่าย เน้นการนำออกซิเจนเข้าไปในปอดให้ได้มากที่สุดและนำเอาอากาศเสียออกจากปอดให้หมด
“โปรแกรมนี้นำไปใช้กับผู้สูงอายุในพื้นที่ ต.พังเทียม อ.คง และโรงเรียนผู้สูงอายุอีกหลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมา เห็นผลชัดเจน และมีเป้าหมายที่จะให้ผู้สูงอายุในทุกพื้นที่นำไปใช้ โดยทีมนักวิจัยได้สอนวิธีการตามโปรแกรมฯ ผ่านกลุ่ม อสม. ประธานชุมชน หมู่บ้าน และโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้ได้มากที่สุด” นางหฤทัยกล่าว
ด้าน นายชัยศิริ ศิริรุ่งสกุลวงษ์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านโพธิ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ ต.บ้านโพธิ์มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นกลุ่มที่ลูกหลานจะให้เฝ้าบ้าน ทางเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์จึงเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่ของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนได้มาศึกษาเรียนรู้ เข้าสังคม และทำกิจกรรมร่วมกัน โดยประสานความร่วมมือกับทางองค์กรรัฐและเอกชนที่จะเข้ามาให้ความรู้ผู้สูงวัย เช่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา ที่จะเข้ามาให้ความรู้ด้านวิชาการ หรือนำงานวิจัยมาใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุได้ทำให้ผู้สูงอายุที่นี่มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี
ขณะที่ ดร.พรฤดี นิธิรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา เปิดเผยว่า บทบาทของวิทยาลัยฯ มีทั้งเรื่องการเรียนการสอนและด้านการวิจัย โดยงานวิจัยจะมุ่งเน้นการนำไปใช้ได้จริง เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุในเรื่องระบบการหายใจ เราต้องตอบให้ได้ว่าเรื่องที่เราวิจัยนี้เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่การไปสอนแล้วจบ แต่เรายังมีงานวิจัยมารองรับก็จะเป็นตัวตอบว่าดีจริง ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ดังนั้น การที่เราจะนำงานวิจัยมาบอกกันแค่ในวิทยาลัยฯ หรือมาสอนนักเรียนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ทางวิทยาลัยฯ จึงส่งเสริมว่าต้องนำไปใช้ให้ชุมชน ท้องถิ่นหรือส่วนราชการได้ใช้ประโยชน์ เช่น สถานสงเคราะห์คนชรา โรงเรียนผู้สูงวัย และเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในงานวิจัยยังสามารถนำไปทำเป็นสื่อการเรียนการสอนและส่งไปยังวิทยาลัยพยาบาลอื่นๆ ได้ด้วย ถือเป็นการแบ่งปันทรัพยากรไม่ต้องทำงานวิจัยทุกที่ เพราะงานวิจัยไม่ได้อยู่บนหิ้งแต่เราสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง หรือปัจจุบันสามารถนำไปสู่ห้างฯ ก็มีเพราะงานวิจัยบางอย่างสามารถต่อยอดไปทำนวัตกรรมได้ด้วย ซึ่งทางวิทยาลัยฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน