xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯ จับมือ สสส. และภาคีเครือข่าย Restart ครั้งใหญ่ฝ่าวิกฤตโควิด–19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ผนึกกำลังจัดงานสัมมนา มองอนาคต “กีฬาและมหกรรมมวลชนเพื่อสุขภาพทั้งกาย–ใจ” กับการ Restart ครั้งใหญ่ฝ่าวิกฤตโควิด–19 ระดมทัพผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าจากทุกภาคส่วน ร่วมถกทุกประเด็นเทรนด์กีฬา–บันเทิง–เทศกาลงานประเพณี ด้วยวิถีธุรกิจแบบใหม่ ภายใต้ข้อจำกัดด้านมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนโครงการเปิดเมือง ปลอดภัย เดินหน้าเศรษฐกิจไทยแบบ Next Normal

วันที่ 10 กันยายน 2563 ณ ห้อง Activity Hall สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกรุงเทพฯ นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานเปิดงานสัมมนามองอนาคต “กีฬาและมหกรรมมวลชนเพื่อสุขภาพทั้งกาย–ใจ” กับการ Restart ครั้งใหญ่ฝ่าวิกฤตโควิด–19” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายภาคเอกชน ภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมระดมวิทยากร ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนโครงการเปิดเมือง ปลอดภัย ซึ่งในช่วงเช้าเป็นการสัมมนาในหัวข้อ“มหกรรมมวลชนเพื่อสุขภาพ บนชีวิตวิถีใหม่” โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล และ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้เชี่ยวชาญภาคประชาสังคม นอกจากนี้ยังมีประเด็น“แนวทางการขับเคลื่อนมหกรรมมวลชนเพื่อสุขภาพ บนฐานธุรกิจยุคใหม่”

โดย ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชมรมเดิน–วิ่งเพื่อสุขภาพไทย และอนุกรรมการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายสุรวัช อัครวรมาศ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(ATTA) พร้อมด้วย นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ ผู้แทนสมาคมการค้าผู้จัดกีฬามวลชนไทย (TMPSA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มูฟ เอเชีย จำกัด

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจกีฬาและบันเทิงในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างงานและสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล เนื่องจากมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมายที่ได้รับอานิสงส์จากธุรกิจกีฬาและบันเทิง ทั้งค้าปลีก การบริการ การท่องเที่ยว การขนส่ง และการสื่อสาร เช่น การจัดงานวิ่งที่นอกจากจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(Health Tourism) และนักท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) สามารถสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่จากวิกฤตโควิด–19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการหรือกิจกรรมได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังพบว่ามีแรงงานในธุรกิจบันเทิงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ต้องตกงานและขาดรายได้ จากการสั่งปิดสถานบันเทิง ปิดโรงภาพยนตร์ และงดจัดงานคอนเสิร์ต ซึ่งการหยุดชะงักของธุรกิจกีฬาและบันเทิง รวมถึงงานประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่น ส่งผลต่อการจ้างงานและกระทบเป็นเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้กิจการและกิจกรรมด้านกีฬาและบันเทิง รวมถึงมหกรรมมวลชนด้านประเพณีให้กลับมาเริ่มต้น (Restart) กิจการหรือกิจกรรม ภายใต้เงื่อนไขการจัดงานที่ปลอดภัย ด้วยวิถีธุรกิจยุคใหม่ (Next Normal) เช่น การลดความหนาแน่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าการแข่งขันหรือร่วมงาน และการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดการแข่งขันกีฬาที่เป็นมหกรรมมวลชนเพื่อสุขภาพบนชีวิตวิถีใหม่จะต้องมองให้ครบทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ระดับบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้เพื่อให้เกิดการปรับตัวไปพร้อมๆ กัน และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในการป้องกันโรคระบาด เช่น การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การรักษาร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง การเว้นระยะห่าง และการลดความแออัด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นอกจากการใช้มาตรการเชิงนโยบายและการบังคับใช้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด และการ์ดต้องไม่ตกแล้ว ยังต้องส่งเสริมภูมิต้านทานทางกายในทุกกลุ่มอายุ ด้วยการออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างสุขภาวะบนฐานวิถีชีวิตใหม่ให้เกิดความสมดุล ทั้งกาย ใจสังคม และปัญญา ต้องทำให้เกิดกระบวนการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเป็นบรรทัดฐานหรือวิถีใหม่ด้านสุขภาพของคนไทย เพื่อที่หากในอนาคตโรคอุบัติใหม่หรือความท้าทายอื่นๆ เข้ามาก็จะสามารถก้าวผ่านไปได้ในทุกวิกฤต

ด้าน ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการจัดงานหรือกิจกรรมที่มีการรวมตัวของมวลชนหรืออยู่รวมกันของคนเป็นจำนวนมาก (Mass Gathering) ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการจัดแข่งขันกีฬาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมที่เป็นการรวมตัวของมวลชน เช่น งานเทศกาล งานบันเทิง โรงภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และการแสดงโชว์ต่างๆ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศ จะอนุญาตให้จัดได้ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในระยะต่างๆ

สำหรับประเทศไทย หลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทางสมาพันธ์ชมรมเดิน–วิ่งเพื่อสุขภาพไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้ทำงานร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้จัดงานวิ่ง ในการจัดทำร่างมาตรฐานใหม่สำหรับการจัดงานวิ่งภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด–19 ซึ่งจากการทดลองจัดงานวิ่งไปแล้วหลายครั้ง พบว่า มาตรการต่างๆ ของการจัดงานอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและปฏิบัติได้จริง และสามารถนำไปประยุกต์เป็นคู่มือสำหรับการจัดแข่งขันกีฬาประเภทอื่นได้ เช่น ฟุตบอล จักรยาน การเข้าชมการแข่งขันเทนนิส ในขณะที่การจัดแข่งขันมวย หรือการจัดงานคอนเสิร์ต จะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีข้อจำกัดและความเสี่ยงในระดับที่สูงกว่า ซึ่งการจัดกีฬามวลชนเพื่อสุขภาพภายใต้แนวทางการปฏิบัติตามกรอบ Mass Gathering ของ WHO จะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เป็นการสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้การท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งยังเป็นกลไกที่จะปลุกพลังคนไทยให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและสร้างเสริมสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น