xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมชลประทานติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ที่สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
หนองคาย - อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง วงเงินดำเนินการกว่า 21,000 ล้านบาท แผนงานโครงการ 9 ปี แล้วเสร็จปี 2569 ชี้ประโยชน์แก้น้ำท่วมให้ประชาชนทั้ง จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี กว่า 284 หมู่บ้าน


วันนี้ (20 ส.ค.) ที่สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง รับฟังความคืบหน้าของโครงการ ปัญหาอุปสรรค และติดตามการก่อสร้างบริเวณพื้นที่โครงการ จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มีพื้นที่รับน้ำ 2,260 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนฤดูฝนจะเกิดน้ำหลาก โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละปีจะมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 9,000 ไร่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 24 เม.ย.61 วงเงินดำเนินการ 21,000 ล้านบาท แผนงานโครงการ 9 ปี โดยจะแล้วเสร็จในปี 2569




ภายในโครงการจะมีสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง งานพนังกั้นน้ำช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง งานอาคารบังคับน้ำตามลำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา 15 แห่ง งานระบบชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ และระบบควบคุมอุทกภัยอัจฉริยะ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขต จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอของ จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี

มีครัวเรือนได้รับผลประโยชน์ 29,835 ครัวเรือน มีแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อขยายพื้นที่ชลประทาน นอกจากนี้ ยังจะมีการผลักดันให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ในอนาคตอาจมีการจัดสรรให้เป็นตลาดชุมชนร่วมด้วย


ขณะนี้การดำเนินการก่อสร้างมีความก้าวหน้าร้อยละ 2.77 ช้ากว่าแผนงานที่วางไว้ร้อยละ 0.14 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการขนส่งวัสดุและโรงงานผลิตเครื่องสูบน้ำจากต่างประเทศขนส่งล่าช้า ส่วนผลสืบเนื่องจากระดับน้ำโขงที่ลดลงจากปกติ แม้ว่าระดับจะเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณน้ำก็ยังต่ำว่าทุกปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการในระยะยาว เนื่องจากได้มีการศึกษาผลกระทบในช่วงภาวะน้ำโขงลดระดับต่ำสุดมาแล้ว มีการวางระบบรองรับปริมาณน้ำไว้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น