กาฬสินธุ์ - ผอ.เขื่อนลำปาวนำเจ้าหน้าที่ลุยเปิดเวทีสัญจรกลางทุ่งนา สร้างความเข้าใจบริหารจัดการน้ำหน้าแล้ง แนะเกษตรกรเคารพกติกา มีวินัย หมุนเวียนแบ่งปัน ลดปัญหาแย่งน้ำหน้าแล้ง ล่าสุดพบเกษตรกรปลูกพืชเต็มพื้นที่เกินเป้า 2.7 แสนไร่แล้ว
วันนี้ (9 ม.ค. 63) ที่บริเวณคลองส่งน้ำทุ่งนาบ้านโคกคอน หมู่ 12 ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ หรือเขื่อนลำปาว นำเจ้าหน้าที่เขื่อนลำปาว และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานชลประทานที่ 6 จ.ขอนแก่น ลงพื้นที่เปิดเวทีสัญจรพบปะเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้งจากกลุ่มปลูกข้าวนาปรัง และผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในเขต อ.เมือง และ อ.ยางตลาด เพื่อสร้างความเข้าใจการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งติดตามสอบถามปัญหาการใช้ประโยชน์น้ำจากเขื่อนลำปาว ป้องกันปัญหาแย่งน้ำ หลังเขื่อนลำปาวเริ่มส่งน้ำหน้าแล้งมาได้ 1 เดือน
นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,363.58 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 68.87 จากมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เขื่อนลำปาว ครั้งที่ 2/2562 ให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ส่งน้ำให้เกษตรกรเพื่อใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง และทำนาปรัง ฤดูการผลิตปี 2562/63 มาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2562
เป็นการส่งน้ำให้เร็วกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกษตรกรปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 270,000 ไร่ โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งเกินเป้าหมาย คาดว่าเดือนเมษายนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ การพบปะเกษตรกรครั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้าใจการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ โดยเกษตรกรจะต้องแบ่งปันน้ำแบบหมุนเวียน ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า เคารพกติกาของกลุ่ม มีวินัย เพื่อลดปัญหาแย่งน้ำในอนาคต
ขณะที่นายณรงค์ นันวิชัย อายุ 70 ปี บ้านเลขที่ 100 บ้านกุดอ้อ หมู่ 4 ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนทำนาปีละ 2 ครั้ง คือนาปี และนาปรัง การทำนาปีได้อาศัยน้ำจากน้ำฝนและคลองชลประทานลำปาว จึงได้น้ำเต็มที่ ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่การทำนาปรังต้องใช้น้ำจากคลองชลประทานหล่อเลี้ยงต้นข้าว ซึ่งคลองดังกล่าวได้ขยายพื้นที่เข้าสู่แปลงนาเมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา ทำให้ที่นาซึ่งอยู่ห่างจากคลองสายหลักได้รับน้ำทั่วถึง
สิ่งสำคัญ เกษตรกรผู้ใช้น้ำต้องรู้จักแบ่งปัน คนที่อยู่ต้นน้ำต้องเห็นอกเห็นใจคนที่อยู่กลางน้ำและท้ายน้ำ เพราะก่อนหน้านี้เกิดปัญหาแย่งน้ำ ท้ายน้ำไม่มีน้ำใช้ พอมีการบริหารจัดการน้ำ สร้างความเข้าใจ เคารพในกติกาของกลุ่ม ก็จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้น้ำร่วมกันได้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด