xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ใช้น้ำน้อย! เกษตรกรเมืองน้ำดำพลิกผืนนาแล้งปลูกกะหล่ำปลีขายโกยเงินก้อนโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสาคร วิทยาเวทย์ เกษตรกรบ้านป่าหวาย ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ - ชาวบ้านพื้นที่นอกเขตชลประทานใน อ.ห้วยเม็ก พลิกผืนนาที่แห้งผาก ขึ้นแปลงปลูกกะหล่ำปลี ใช้น้ำจากบ่อพักน้ำฝนหล่อเลี้ยง งดใช้สารเคมี 60 วันก็ตัดขายได้ คาดมีรายได้แล้งนี้ 50,000-60,000 บาท เป็นพืชทางเลือกใหม่สร้างรายได้หน้าแล้ง



จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวกาฬสินธุ์ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน พบว่า ที่ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก มีเกษตรหลายรายพลิกวิกฤตแล้งและดินเสื่อมคุณภาพขึ้นแปลงปลูกกะหล่ำปลี ประสบผลสำเร็จได้กะหล่ำปลีหัวใหญ่ ได้รสชาติทั้งหวานฉ่ำ กรอบ อร่อย

นางสาคร วิทยาเวทย์ เกษตรกรบ้านป่าหวาย ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า พื้นที่ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก ไม่มีระบบน้ำชลประทาน น้ำกินน้ำใช้ได้จากบ่อดินที่กักเก็บจากน้ำฝนและน้ำประปา บางปีขาดแคลน ไม่พอใช้ และฤดูแล้งปีนี้น้ำที่กักเก็บไว้เหลือไม่มากนัก ประกอบกับสภาพหน้าดินที่แห้งแล้ง เสื่อมคุณภาพ หากจะปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ผักสวนครัว แตง หรือข้าวโพด จะต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงมาก และสิ้นเปลืองปุ๋ยบำรุง




ครอบครัวของตนจึงหันมาปลูกกะหล่ำปลี พืชทางเลือกใหม่ ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนแล้งได้ดี ต้นทุนการปลูกต่ำ ซื้อเพียงเมล็ดพันธุ์ และรวมค่าไฟที่ใช้สูบน้ำมารดแปลงกะหล่ำปลีรวมแล้วประมาณ 500 บาทเท่านั้น

นางสาครบอกอีกว่า ตนใช้พื้นที่ 2 งาน ปลูกกะหล่ำปลี 3,000 ต้น บำรุงด้วยปุ๋ยคอกและสารชีวภาพกำจัดเพลี้ยและหนอน เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก อายุ 30-40 วันเริ่มห่อ พอได้สัก 50-60 วัน ก็เริ่มตัดขายได้ มีลูกค้ามารับซื้อถึงที่ นอกจากนี้ยังตัดส่งตลาดนัดสีเขียวโรงพยาบาลห้วยเม็ก และ ตลาดนัดชุมชน โดยจะขายเป็นห่อ ห่อเล็กขาย 10 บาท ห่อใหญ่ขาย 20 บาท ซึ่งได้ราคาดีกว่าส่งตลาดสด เพราะจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา


โดยตลาดสดรับซื้อเพียงกิโลกรัมละ 3 บาทเท่านั้น กะหล่ำปลีบ้านป่าหวายของตนจึงติดตลาด มีลูกค้าทยอยมาซื้อถึงแปลงตลอดวัน คาดว่าในห้วงฤดูแล้งปีนี้ตนน่าจะมีรายได้จากการขายกะหล่ำปลีราว 50,000-60,000 บาท


นางสาครกล่าวเพิ่มเติมว่า ถือเป็นความโชคดีของตนในช่วงที่กะหล่ำปลีเริ่มห่อ สภาพอากาศหนาวเย็นพอดี ช่วงนั้นหากอากาศร้อนจะทำให้กะหล่ำปลีห่อไม่ดี และทำให้เสียรสชาติ อย่างไรก็ตาม จากการปลูกกะหล่ำปลีในพื้นที่แห้งแล้ง สารอาหารในดินต่ำ โดยใช้เพียงปุ๋ยคอกบำรุงและกำจัดศัตรูรบกวนด้วยสารชีวภาพ และการให้น้ำที่พอเหมาะ กลับส่งผลดีให้กะหล่ำปลีของตน มีรสชาติที่หวานฉ่ำ กรอบ อร่อย รักษาสภาพความสดชื่นได้นานโดยไม่เน่าเสีย

ในอนาคตหากอากาศไม่ร้อนจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีกเพื่อเป็นพืชทางเลือกใหม่ที่จะปลูกเป็นอาชีพหลักและมีรายได้จากการปลูกกะหล่ำปลีในฤดูแล้ง เพราะค้นพบแล้วว่าต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตดีและมีรายได้ดีกว่าปลูกพืชชนิดอื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น