กาฬสินธุ์ - ชาวบ้านชัยศรี ต.คำใหญ่ อ.ห้วยเม็ก พลิกวิกฤตแล้งปลูกข้าวโพดเงินล้าน รสชาติหวาน หอม นุ่มเหนียว ติดมันเค็ม ขายรายวัน มีรายได้เดือนละ 15,000-70,000 บาท เผยปลูกได้ตลอดปีขายทำเงินได้ทุกวัน ไม่ต้องขายแรงงานในเมือง
ที่ถนนสายบ้านไทยเจริญ-น้ำพอง เขตเทศบาลตำบลคำใหญ่ อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งผ่านหน้าบ้านชัยศรี ต.คำใหญ่ ได้กลายเป็นย่านเศรษฐกิจย่อมๆ ในท้องถิ่นอีกแห่งหนึ่ง ผู้ใช้รถใช้ถนนอดไม่ได้ที่จะแวะพักซื้อข้าวโพดไปรับประทานระหว่างทางและเป็นของฝากให้ญาติมิตรลูกหลานที่บ้านหรือเพื่อนฝูงที่ทำงาน
นายประดิษฐ์ สุบุตรดี นายกเทศบาลตำบลคำใหญ่ เล่าว่า เมื่อ10 ปีก่อนในช่วงฤดูแล้งชาวบ้านชัยศรีจะว่างงาน ส่วนชาวบ้านรายใดที่มีที่นาอยู่ติดกับลำห้วยสายบาตรซึ่งไหลผ่านพื้นที่ก็จะปลูกพืชตามฤดูกาล เช่น พืชกระกูลแตง ผักสวนครัวชนิดต่างๆ แต่ไม่ค่อยจะได้ผลสักเท่าไหร่ ขณะที่การปลูกข้าวโพดทั้งข้าวโพดพื้นบ้านหรือพันธุ์ข้าวเหนียว รวมทั้งข้าวโพดหวานจะได้ผลดีมาก จากการวิจัยพบว่าดินบริเวณลำห้วยสายบาตรดังกล่าวมีสารอาหารตามธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการปลูกข้าวโพดมากกว่าพืชผักสวนครัว
ที่สำคัญข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ดูแลง่าย ต้านทานโรคได้ดี ผลผลิตขายได้ตลอดปี นอกจากจะนำไปต้มสุกรับประทานแล้ว ยังแปรรูป และนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารหวานคาวได้หลายอย่าง
นายประดิษฐ์บอกอีกว่า เมื่อปลูกข้าวโพดประสบความสำเร็จจึงมีชาวบ้านชัยศรีประมาณ 10 ครอบครัวปลูกเป็นอาชีพหลัก เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ แก้ไขปัญหาว่างงานในฤดูแล้ง เทศบาลตำบลคำใหญ่จึงได้เข้ามาให้การส่งเสริม โดยแนะนำให้มีการรวมกลุ่ม “ผู้ปลูกข้าวโพดชัยศรีของดีคำใหญ่” เน้นการใช้อินทรีย์ชีวภาพ คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ผลิตผู้บริโภค นอกจากนี้ยังแนะนำให้มีการเลี้ยงโค กระบือ เพื่อให้เกิดต่อยอดจากการปลูกข้าวโพดและสร้างรายได้เพิ่ม
“ชาวบ้านจะปลูกข้าวโพดเป็นรุ่น ห่างกันรุ่นละ 10-15 วัน จึงทำให้ได้ผลผลิตจำหน่ายตลอดปี ไม่มีขาดช่วง หลายปีให้หลังต่างนำข้าวโพดมาต้มและตั้งแผงขายที่ถนนหน้าบ้าน โดยจะตัดข้าวโพดที่ได้อายุเก็บผลผลิตมาทั้งต้น จากนั้นคัดแยกเอาฝักออก ขายทั้งฝักต้มสุกและฝักดิบ แพ็คใส่ถุงๆ ละ 3 ฝัก ราคาถุงละ 20 บาท 30 ถุง 50 บาท ขณะที่ลำต้นข้าวโพดนั้นก็จะเอามาเข้าเครื่องตัดและบดเป็นอาหารเสริมให้สัตว์เลี้ยงกินในฤดูแล้ง ซึ่งสัตว์เลี้ยงก็จะให้ปุ๋ยคอกนำปุ๋ยคอกมาบำรุงแปลงข้าวโพด เป็นลักษณะเหมือนห่วงโซ่อาหารต่อไป” นายประดิษฐ์กล่าว
นายประดิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการส่งเสริมชาวบ้านชัยศรีปลูกข้าวโพดควบคู่กับการเลี้ยงโคกระบือดังกล่าว ซึ่งดำเนินการมาอย่างจริงจังต่อเนื่องกว่า 10 ปี ทำให้ชาวบ้านผู้ปลูกข้าวโพดมีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่าวันละ 1,000-3,000 บาท หรือเดือนละ 20,000-70,000 บาท จากที่เคยปลูกเพื่อแก้ไขปัญหาว่างงานฤดูแล้งก็กลายเป็นข้าวโพดเงินล้าน มีจำหน่ายทุกฤดูกาล
ถือเป็นโอทอปของดีคำใหญ่ ที่คนสัญจรผ่านไปมาต้องแวะซื้อไปกินระหว่างการเดินทาง และเป็นของฝากญาติพี่น้องต่างจังหวัด ที่สำคัญรสชาติของข้าวโพดบ้านชัยศรีนั้นการันตีคุณภาพทั้งหวาน หอม นุ่มเหนียว ติดมันเค็ม เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ได้จากการปลูกในดินริมลำห้วยสายบาตรซึ่งมีสารอาหารพิเศษเหมาะกับข้าวโพดนั่นเอง