xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอบุกค้น 5 จุด บริษัทนำสารพาราควอต-ไกลโฟเซต ผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ดีเอสไอพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเจ้าหน้าที่ค้น 5 จุด บริษัทนำสารอันตรายพาราควอต และไกลโฟเซต ผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ หลอกขายให้ประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก พบมีความผิดหลายกระทง

วันนี้ (14 พ.ย.) เวลา 09.00 น. ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่จากกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคและศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 3 (นครราชสีมา) ดีเอสไอ ได้บูรณาการร่วมกับกรมวิชาการเกษตร โดยมีนายสุรเดช ปัจฉิมกุล รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้าตรวจค้นบริษัทและแหล่งผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตราย จำนวน 5 จุดพร้อมกัน

โดยจุดตรวจค้น 5 จุด ประกอบด้วย 1. บริษัท สมาร์ท ไบโอเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.นนทบุรี จำนวน 2 จุด (คดีพิเศษที่ 73/2562) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ยี่ห้อ “สมาร์ทไบโอ” รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น สารเสริมประสิทธิภาพกำจัดโรคพืช ยี่ห้อ“ท็อปเคลียร์” สารปรับสภาพน้ำชนิดพิเศษ ยี่ห้อ “สมาร์ท ไบโอ อะควอ” และปุ๋ย เป็นต้น และ 2.บริษัท วีไอพี คิงดอม 999 จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี จำนวน 1 จุด และ จ.นครราชสีมา จำนวน 2 จุด (คดีพิเศษที่ 74/2562) ผู้ผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ยี่ห้อ “ซุปเปอร์ไลค์” รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น จำหน่ายยาฆ่าแมลง ยี่ห้อ “ออแกนิค คิล” จำหน่ายปุ๋ยสินแร่นาโน บูม ชนิดเม็ด เป็นต้น

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตเปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) ให้ความสำคัญเรื่องการใช้สารผลิตภัณฑ์การเกษตรที่มีวัตถุออกฤทธิ์อันตราย จึงบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงานเข้าตรวจค้น 5 จุดดังกล่าวพร้อมกันเพื่อตรวจยึดและอายัดสารเคมี ซึ่งบริษัทมีการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ใช้กำจัดวัชพืช แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแอบใส่สารเคมีพาราควอต และไกลโฟเซต โดยเกษตรกรนำไปใช้แบบไม่รู้ ขณะที่พิษภัยของสารเคมีดังกล่าวมีผลร้ายแรงอันตรายมีผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเศรษฐกิจ พบว่าสารปนเปื้อนถูกนำไปใช้ในพืชผักที่คนบริโภคจึงเข้าไปสะสมในร่างกาย ส่งผลให้มีผู้เจ็บป่วย 5,000 ราย และเสียชีวิต 500 คนต่อปี

ด้าน พ.ต.ท.ไพสิฐกล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องว่ามีบริษัทนำสารพาราควอต และไกลโฟเซต ผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ เจ้าหน้าที่จึงสืบสวนพบว่าบริษัทดังกล่าวมีรายได้จากการขายสารเคมี 2 ตัว จำนวนเงิน 10 กว่าล้านบาทต่อเดือน โดยจะนำวัตถุพยานจากทั้ง 5 จุดส่งตรวจที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์สอบขยายผลความผิดต่อไป

นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า สารเคมีพาราควอต และไกลโฟเซต ส่งผลอันตรายต่อผิวหนัง ระบบหายใจ และประสาท เป็นต้น ซึ่งมีผลอันตรายต่อชีวิต โดยทางบริษัทผู้ขายได้โฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์สารชีวภาพแต่กลับมีการนำสารเคมีพาราควอต และไกลโฟเซตผสม ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ซื้อสินค้าดังกล่าวไปใช้ไม่ทราบความจริงจึงทำให้ไม่มีการระมัดระวังในการสัมผัส รวมทั้งการนำสินค้าเกษตรไปจำหน่ายส่งผลอันตรายทั้งต่อผู้ใช้และผู้บริโภค จึงเป็นที่มาดีเอสไอต้องเข้าตรวจค้นและยึดสินค้า

ขณะที่นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ดีเอสไอ เปิดเผยว่า บริษัทดังกล่าวได้มีการนำสารพาราควอตไดคลอไรด์ และไกลโฟเซต ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม ซึ่งเป็นสารควบคุมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 บัญชี 1.1 ลำดับที่ 353 และลำดับที่ 43 ที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 มาผสมกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฏหมายและขายผ่านทางสื่อโซเซียลมีเดีย ทำให้ผู้ซื้อไปใช้เข้าใจผิดคิดว่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพดังกล่าวไม่มีผลต่อสุขภาพ เป็นเหตุทำให้ผู้ซื้อได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

นายธานินทร์เผยอีกว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฐานผลิต หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีมูลค่าวัตถุอันตรายตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป หรือมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป

“โดยคดีนี้จากการสืบสวนเบื้องต้นน่าเชื่อว่ามีความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีผู้ได้รับผลกระทบจากวัตถุอันตรายดังกล่าวมากว่า 1,000 ราย นอกจากนี้ อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 เนื่องจากมีการผลิตปุ๋ยเพื่อการค้า โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ได้รับอนุญาต และอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากมีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”












กำลังโหลดความคิดเห็น