xs
xsm
sm
md
lg

รุกแจง “จรรยาบรรณวิชาชีพ” ปลุกสำนึกคนทำโฆษณาออนไลน์ ต้องไม่ผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยรุกเดินสายจัดอบรม กระตุ้นผู้ผลิตสื่อโฆษณาอีสานตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ หลังสื่อออนไลน์ขยายตัวก้าวกระโดด ทั้งมีการผลิตสื่อโฆษณาผิดกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์ หวังผลประโยชน์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ห้องประชุมเสียงแคน ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการอบรม “โครงการอบรบหลักสูตรการผลิตสื่อโฆษณาที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ” ที่สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีผู้ผลิตสื่อโฆษณาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมอบรมกว่า 40 คน

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น
นายอุดมศักดิ์ วงษ์ประเสริฐ รองประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยมุ่งมั่นเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้ข้อมูลเกี่ยวกับจรรยาบรรณให้แก่บุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตสื่อโฆษณามาโดยตลอด สื่อโฆษณานับเป็นการสื่อสารที่มีอิทธิพลมากต่อผู้รับชม จะเห็นได้ว่าการผลิตสื่อโฆษณาในปัจจุบันนั้นสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

โดยเฉพาะสื่อโฆษณาที่ผ่านช่องทางออนไลน์มีการเติบโตสูงมาก ตามวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคปัจจุบันที่บริโภคสื่อออนไลน์มาก ทำให้การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ได้รับความนิยมมาก มีหลายแบรนด์ที่ได้สื่อสารในช่องทางนี้จำนวนมาก

ขณะที่ระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทำได้จำกัดเฉพาะการโฆษณาทางโทรทัศน์เท่านั้น ทำให้มีทั้งการโฆษณาที่สร้างสรรค์และผิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก วัดจากข้อมูลของ อย.ปี 2561 มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายมากถึง 523 คดี และปี 2562 มีการเผยสถิติการเฝ้าระวังและตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ จำนวน 24,482 รายการ พบโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายถึง 1,570 รายการ รวมทั้งมีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอเนื้อหาการโฆษณาอยู่เป็นระยะ



นายอุดมศักดิ์ วงษ์ประเสริฐ รองประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย
นายอุดมศักดิ์กล่าวต่อว่า การควบคุมสื่อโฆษณาจะมีหน่วยงานหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์จะมีชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาตรวจสอบก่อนออกอากาศ จึงไม่เกิดปัญหา แต่ระยะหลังสื่อโฆษณาที่ผ่านทีวีดาวเทียม และช่องทางออนไลน์ต่างๆ คิดเอง ทำเอง มักโฆษณาผิดกฎหมาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ และต้องการหลีกเลี่ยง ยัดเยียดสื่อโฆษณานั้นให้ผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน การใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาควบคุมสื่อโฆษณาช่องทางออนไลน์ และดาวเทียมนั้นคงไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะการผลิตสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์มีจำนวนมาก ทางสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยจึงหันมารณรงค์ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อโฆษณาตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ จริยธรรม และข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับโฆษณาให้มาก เพื่อให้การผลิตงานโฆษณาเป็นผลงานที่มีคุณภาพ ไม่ผิดกฎหมาย สามารถสื่อสารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และร่วมรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วย




บทบาทการทำงานสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเดินสายสัมมนาในหัวข้อ การผลิตสื่อโฆษณาที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพไปทั่วประเทศไทย เริ่มจากจังหวัดจันทบุรี, ขอนแก่น, กระบี่, เชียงใหม่ และสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ มีจุดประสงค์ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้แนวทาง ความสำคัญในการกำกับดูแลตนเองของนักโฆษณา จรรยาบรรณวิชาชีพ

รวมไปถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา ที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานโฆษณาให้มีประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อตัวแบรนด์สินค้าในสื่อโฆษณาเอง และต่อผู้รับชมสื่อโฆษณานั้นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น