ยังไม่มีข้อสรุปในแนวทางแก้ไขปัญหา “เรียงช่อง” จาก กสทช. หลังองค์ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เมื่อวันอังคารที่ 11 สิงหาคม ล่มเหตุองค์ประชุมไม่ครบ จึงไม่มีคำตอบให้ตามสัญญา ด้านสมาคมทีวีดิจิทัลผนึกพลังแถลงจุดยืน ยืนยันหากยกเลิก “ประกาศเรียงช่องปี 58” จะทำให้อุตสาหกรรมเสียหายมหาศาล เกิดผลกระทบทุกด้านไม่ว่าจะออกมารูปแบบใด สุดท้ายต้องฟ้องร้อง กสทช.อีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) นำทีมสมาชิกผู้บริหารช่องทีวีดิจิทัล แถลงจุดยืนของอุตสาหกรรมหลังจากประเมินผลการประชุมย่อย (Focus group) ร่วมกับโครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ซึ่ง กสทช.จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และ กสทช.เสนอยกช่อง 1-10 ให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีจัดเรียงช่องเองอิสระ ทีวีดิจิทัล อยู่หมายเลข 11-36 ตามเดิม แต่ยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างความเสียหายของตน บวกกับท่าทีของ กสทช.ที่ยังไม่สามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาได้ตามกรอบเวลาที่รับปากไว้ จึงต้องประกาศจุดยืนและแนวทางการต่อสู้ในฐานะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากปัญหานี้ ทั้งหมด 4 ข้อ
นายสุภาพย้ำว่า จุดยืนสำคัญข้อแรกในการต่อสู้ของทีวีดิจิทัล คือ การเป็นสื่อหลักเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นหัวใจสำคัญในการสะท้อนบริบทของสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อตามนโยบายของรัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ
เมื่อการเปลี่ยนผ่านของทีวีภาคพื้นดินไม่เป็นไปตามแผนงาน การคงไว้ซึ่ง ประกาศ “must carry” ปี 2555 และ ประกาศ “เรียงช่อง” ปี 2558 ให้โครงข่ายการรับชมอื่นๆ ทั้งทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี นำช่องรายการของทีวีดิจิตอล ไปออกอากาศตรงตามหมายเลขการประมูล ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการ “ชดเชย” และ “ทดเแทน” โครงข่ายภาคพื้นดิน เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหลที่คนดูหาช่องไม่เจอซ้ำรอยในอดีตที่นับเป็นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
ข้อที่ 2 นายสุภาพกล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบดิจิทัล ทำให้ไม่มีผู้เสียหายจากการเรียงช่อง มีแต่ผู้แสวงประโยชน์ จากการยกเลิก “ประกาศเรียงช่อง” เนื่องจากปัจจุบันการใช้คลื่นความถี่ในโครงข่ายของ “ทีวีดาวเทียม” และ “เคเบิลทีวี” เป็นไปอย่างไม่จำกัด และสามารถจัดรูปแบบการเรียงช่องเป็นหมวดหมู่เพื่อบริการผู้ชมที่เป็นสมาชิกตามความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งผู้ประกอบการโครงข่ายก็ยืนยันเองว่าปัจจุบันไม่มีปัญหาเรื่องการจัดลำดับและหมวดหมู่หมายเลขช่องกับสมาชิกตามความต้องการแต่ละพื้นที่แล้ว
แต่สำหรับทีวีดิจิทัลซึ่งเป็นสื่อหลักของชาติ “การเรียงช่อง” ตามลำดับหมายเลขการประมูลให้ตรงกันทั้งประเทศ ในทุกโครงข่ายทุกช่องทางการรับชม เป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรม เพราะเป็นเงื่อนไขหลักที่ผู้ประกอบการทุ่มเงินประมูลเพื่อสิทธิในการเลือกหมายเลขช่องเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ชม และต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการทำการตลาดเพื่อสื่อสารกับผู้ชมจนเกิดการจดจำ หากมีการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดความสับสนต่อผู้ชมจนหาช่องไม่เจอ เกิดความเสียหายต่อการอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างประเมินค่าไม่ได้
นายสุภาพกล่าวถึงจุดยืนในข้อต่อไปว่า จากกรณีพิพาทนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงประกาศ “เรียงช่อง” ปี 2558 ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ย่อมเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอย่างมากมายมหาศาล
ช่องที่ออกอากาศในหมายเลข 1-10 ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีตามข้อเสนอของ กสทช. ย่อมเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจต่อทีวีดิจิทัล แต่มีต้นทุนต่ำกว่ามาก ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าใบอนุญาต ส่งผลถึงคุณภาพการผลิตของทีวีดิจิทัลในอนาคต กระทบต่อความนิยมและเกิดการตัดราคาค่าโฆษณา
หรือหากศาลยืนคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น จะก่อให้เกิดสุญญากาศสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทันที ลำดับช่องรายการไม่เป็นไปตามเดิม ผู้ชมสับสน หาช่องเดิมไม่เจอ เป็นโอกาสของเทคโนโลยีการรับชมใหม่ทางออนไลน์อย่าง OTT ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี 5G จะเกิดความเสียหายมหาศาลเกินกว่าจะเยียวยาได้ และอาจถึงจุดล่มสลายของทีวีดิจิทัล สื่อหลักของชาติในที่สุด
ข้อสุดท้าย นายกสมาคมฯ ย้ำชัดว่า “ประกาศเรียงช่อง ปี 2558” คือหัวใจสำคัญในการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และเป็นหัวใจในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของผู้ชมทีวี หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงประกาศเรียงช่อง ปี 2558 ย่อมเกิดความเสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองอีกครั้งอย่างแน่นอน