วันนี้ (17 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ถึงมาตรการความพร้อมในการรับมือเหตุวิกฤตร้ายแรงในพื้นที่ต่างๆ ภายหลังเกิดเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ว่าสิ่งที่ประชาชนยังวิตกกังวลคาใจ คือ แต่ละจังหวัดมีความพร้อมป้องกันภัยเหตุร้ายแรงในทุกด้านอย่างไร ขณะที่มีผู้ก่อเหตุคนเดียวยังเสียเวลาระงับเหตุมาก หากมีผู้ก่อเหตุ 5-10 คนจะทำอย่างไร อาจจะยึดจังหวัดได้ รวมถึงมีมาตรการควบคุมอาวุธสงครามอย่างไร โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่นำอาวุธสงครามนั้นมาใช้
โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่า กรณีกราดยิงที่ จ.โคราช เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นบทเรียนที่จะต้องมีมาตรการรองรับ ผวจ.ต้องไปกำหนดแนวทางป้องกันเหตุร้ายนี้ลักษณะนี้ เพื่อหยุดยั้งเหตุการณ์ให้เร็วที่สุด เช่น หากสถานการณ์เกินเหตุอาจต้องให้ทหารมาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน หรือถ้าบานปลายกว่านั้นอาจต้องใช้กฎหมายความมั่นคงเข้ามา ส่วนการนำอาวุธสงครามาใช้ก่อเหตุได้อย่างง่ายๆ นั้น ปกติแล้วในกองร้อยจะแยกคลังอาวุธกับคลังกระสุนเก็บไว้คนละสถานที่ แต่ผู้ก่อเหตุเมื่อไปถึงก็ยิงเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าคลังอาวุธและคลังกระสุนเพื่อเอาอาวุธและกระสุนออกมา จากนั้นได้ขับรถหนีมาและยิงกราดไปตลอดทาง ไม่ใช่เรื่องการบันดาลโทสะ แต่เป็นเรื่องทางสภาวะจิตใจ ไม่อยากให้โทษทหารในเรื่องที่เกิดขึ้น
ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว. สอบถามเรื่องมาตรการควบคุมสื่อมวลชนในการเสนอข่าวช่วงเหตุการณ์วิกฤต โดยเฉพาะการไลฟ์สดเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ ที่ทำให้ผู้ก่อเหตุรู้ความเคลื่อนไหวๆ ต่าง ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น อยากทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการจัดการและกำกับสื่อมวลชนในสถานการณ์วิกฤตอย่างไร
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่า ยอมรับว่าปัจจุบันการควบคุมจำกัดพื้นที่สื่อมีความยากลำบาก กรณีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา ถือเป็นครั้งแรกที่ทุกคนพยายามทำตัวเป็นสื่อ ขณะนี้สื่อแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. สื่อหลักที่ได้รับอนุญาตการนำเสนอข่าวจาก กสทช. 2. สื่อที่ไม่ได้ขออนุญาตจากใคร แค่มีคนติดตาม 100 คน ก็เรียกตัวเองว่าสื่อนำเสนอข่าวผ่านทางโซเชียลมีเดีย ถือเป็นเรื่องอันตราย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา ที่บางสื่อเสนอเนื้อหาและภาพไม่เหมาะสมนั้น รัฐบาลพยายามประสานไปยังเฟซบุ๊กเพื่อให้ช่วยบล็อกหรือลบเนื้อหา และรูปที่ไม่เหมาะสม เช่น รูปผู้เสียชีวิต หรือรูปการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเฟซบุ๊กก็ให้ความร่วมมือด้วยดี แต่รัฐบาลไม่มีกฎหมายที่จะไปดำเนินการลบหรือบล็อกเนื้อหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน หลังจากนี้คงต้องไปหาวิธีจัดระเบียบสื่อและควบคุมสื่อโซเชียลมีเดียในช่วงเกิดเหตุวิกฤตให้มีความเหมาะสม อาจจะต้องพิจารณาหาสื่อหลักของรัฐเพียงแห่งเดียวให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการนำเสนอข่าวช่วงเกิดเหตุการณ์วิกฤต