xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ศิลปะ มช.แฉซ้ำวัดเก่าเชียงใหม่บูรณะสุดชุ่ย ทำบรรลัยเกินคิด-ลอกทิ้ง “ลายคำ” เก่าหลายร้อยปีด้วย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพลายคำประดับผนังหลังพระประธานในวิหารวัดหมื่นล้าน ที่เคยมีผู้ถ่ายไว้ในอดีต (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
เชียงใหม่ - บรรลัยกว่าที่คิด! อาจารย์ศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มช.แฉซ้ำ วัดเก่าเชียงใหม่บูรณะวิหารโคตรชุ่ยทำมรดกชาติยับเยินเกินคาด พบนอกจากทาสีทับประตูวิหารลายรดน้ำโบราณแล้ว ยังลอกทิ้งเกลี้ยง "ลายคำ" ประดับผนังศิลปะล้านนาเก่าแก่หลายร้อยปี

สภาพปัจจุบันหลังจากที่ทางวัดบูรณะซ่อมแซม
ความคืบหน้ากรณีเรื่องราวสุดสะเทือนใจเกี่ยวกับการบูรณะวิหารวัดหมื่นล้าน ซึ่งเป็นวัดเก่าในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ปรากฏว่าการซ่อมแซมประตูวิหารที่เป็นไม้เก่าและมีภาพลายรดน้ำงดงามอายุกว่าร้อยปี ทางวัดกลับทำโดยการทาสีทับและบอกว่าลอกลายไว้แล้วเตรียมเขียนใหม่บนประตูบานเดิม ซึ่งการบูรณะด้วยวิธีการดังกล่าวสร้างความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากให้แก่ชาวเชียงใหม่และประชาชนทั่วไปที่แสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่ตำหนิวิธีการบูรณะของทางวัด และมองว่าเป็นการทำลายมรดกทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ล้ำค่าของบ้านเมือง

เบื้องต้นทางวัดยอมรับความผิดพลาด และเตรียมดำเนินการแก้ไข ขณะที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เตรียมลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อหาทางออกในวันพรุ่งนี้ (29 ก.ค. 63)


ขณะที่วันนี้ (28 ก.ค. 63) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์สาขาวิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดหลังจากที่เห็นสภาพล่าสุดของวิหารวัดหมื่นล้านที่กำลังบูรณะซ่อมแซม และเกิดปัญหาขึ้น เปรียบเทียบกับภาพถ่ายเดิมที่เคยมีผู้ถ่ายไว้เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย พบว่าไม่ใช่แค่เพียงบานประตูวิหารเท่านั้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับวิธีการ จนดูเหมือนเป็นการทำลายมากกว่าการบูรณะซ่อมแซม

โดยพบว่า "ลายคำ" หรือลวดลายทองเก่าแก่ที่ประดับบนฝาผนังด้านหลังองค์พระประธานในวิหารถูกเอาออกไปเช่นกัน ซึ่งลายคำดังกล่าวนี้เป็นศิลปะเอกลักษณ์เฉพาะตัวของล้านนา และลายคำในวิหารวัดหมื่นล้านแห่งนี้น่าจะมีความเก่าแก่ไม่น้อยไปกว่าบานประตูวิหารหรืออาจจะมีอายุเก่าแก่มากกว่าหลายร้อยปีด้วยซ้ำ ซึ่งเทียบเคียงคุณค่าได้กับวิหารลายคำวัดพระสิงห์ และปัจจุบันน่าจะมีเหลือเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น


ทั้งนี้ ยังไม่แน่ใจวิธีการว่าทางวัดทำอย่างไรในการเอาออกไป แต่เบื้องต้นสันนิษฐานได้ว่าไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องอย่างแน่นอนและอาจเป็นการทำลายภาพดังกล่าวให้ได้รับความเสียหาย ตลอดจนไม่ทราบแน่ชัดว่ายังมีการดำเนินการใดๆ ที่อาจจะกระทบกระเทือนหรือส่งผลเสียต่อของเก่าแก่อื่นๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอีกหรือไม่ โดยทราบว่าในวันพรุ่งนี้ (29 ก.ค. 63) เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่จะเข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหาย รวมทั้งหาทางออก ซึ่งได้แต่หวังว่ายังจะพอมีทางแก้ไขทำให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหวังว่าคงจะไม่มีอะไรได้รับความเสียหายนอกเหนือไปจากนี้อีก





ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์สาขาวิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น