เชียงใหม่ - ทำไปได้! วัดเก่าเชียงใหม่บูรณะประตูวิหารลายรดน้ำสร้างถวายสมัยรัชกาลที่๖ อายุกว่าร้อยปีด้วยการทาสีทับเฉย ปู้ยี่ปู้ยำมรดกชาติ อ้างคัดลอกลายแล้วเตรียมเขียนใหม่ แทนที่จะเก็บรักษาประตูเก่าแล้วเปลี่ยนบานใหม่พร้อมลอกลายไปเขียน
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "คำโขก คำปรุง" ได้โพสต์ภาพพร้อมบอกเล่าเรื่องราวสุดสะเทือนใจเกี่ยวกับการบูรณะวิหารวัดหมื่นล้าน ซึ่งเป็นวัดเก่าในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ปรากฏว่าการซ่อมแซมประตูวิหารที่เป็นไม้เก่าและมีภาพลายรดน้ำงดงามอายุกว่าร้อยปี ทางวัดกลับทำโดยการทาสีทับและบอกว่าลอกลายไว้แล้วเตรียมเขียนใหม่บนประตูบานเดิม ซึ่งการบูรณะด้วยวิธีการดังกล่าวสร้างความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากให้แก่ผู้โพสต์ โดยมีผู้แชร์โพสต์นี้และเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ตำหนิวิธีการบูรณะของทางวัด และมองว่าเป็นการทำลายมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ล้ำค่า เพราะมีทางเลือกที่ดีกว่าเพียงลอกลายบนประตูนำไปเขียนลงประตูบานใหม่ที่ทำขึ้นให้เหมือนเดิมแล้วนำไปใส่แทน ส่วนบานเก่านำไปเก็บรักษาไว้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวระบุว่า "เมื่อวันก่อนเข้าไปเยี่ยมชมการบูรณะพระวิหารวัดหมื่นล้าน ประตูท่าแพชั้นในเมืองเชียงใหม่ บานประตูบานนี้เป็นบานประตูที่ทำด้วยเทคนิคการทำลายรดน้ำ (เป็นหนึ่งในไม่กี่บานที่มีขนาดใหญ่ และเป็นบานของวิหารหลักของวัดในเชียงใหม่ที่ยังเหลือ) ตรงที่ประตูมีการจารึกเป็นตัวธรรมล้านนาว่า
“พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ แล จุลศักราช ๑๒๗๙ เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วัน ๔ ได้สลางหน้ามุกวิหารหนังนี้ นิพพานปจฺจโยโหตุโนนิจจํ”
จากจารึกแล้วประตูบานนี้ได้เขียนสร้างถวายพร้อมมุกหน้าพระวิหาร (ต่อเติมจากหลังเดิม) ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นบานประตูที่มีอายุไล่เลี่ยกันมาตลอดกับวัดในเชียงใหม่หลายๆ ที่
แต่ในปัจจุบันเนื้องานโบราณได้รับการบูรณะโดยการทำพื้นงานใหม่ทับลงไปบนงานโบราณ โดยได้รับข้อมูลมาว่าได้คัดลอกลายและจะเขียนขึ้นใหม่ในแบบฉบับเดิม
บทเรียนครั้งนี้เราทุกท่านขออย่ามองข้าม เพราะต่อไปอาจมีแบบนี้เกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ ขอท่านทั้งหลายมองเป็นบทเรียน “การปล่อยให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลยเท่ากับการสนับสนุนสิ่งนั้น จะเสียดายก็แต่ว่างานโบราณนั้นไม่ได้ถูกการรักษาเนื้องานชั้นครูและเรื่องราวผ่านกาลเวลาเอาไว้ ประตูบานนี้คงอยู่ในมโนสำนึกสืบไป"