xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ยันเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แม้อาจมีปัญหาเวนคืนบางจุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์ข่าว​ศรี​ราชา ​- ร.ฟ.ท.ประชุมร่วมตัวแทนบริษัท​รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน​ ผู้บริหารเมืองพัทยา ก่อนเร่งตรวจสอบสัญญาพื้นที่เช่าตามแนวเส้นทางโครงการศึกษาปัญหาการแก้ไขผลกระทบระหว่างก่อสร้าง ยันใช้แนวทางรถไฟเดิมแต่อาจมีปัญหาการเวนคืนในบางพื้นที่

เมื่อเร็วๆ นี้ นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา ได้นำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการเมืองพัทยา​ ร่วมประชุมพิจารณารูปแบบเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อตรวจดูเส้นทาง ผลกระทบ การเวนคืน และการชี้แผนแนวทางการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกัน รวมทั้งกรณีสัญญาเช่าพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟระยะทาง 16 กิโลเมตร​ ซึ่งเมืองพัทยาได้จัดทำไว้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อาจเกิดผลกระทบอยู่บ้างจากโครงการดังกล่าว

โดยมี​ นายวิเชฐ ดีประเสริฐ หัวหน้ากองจัดการทรัพย์สินภาคกลางและภาคตะวันออก การรถไฟแห่งประเทศไทย นายเจริญ ธนานารถ ผู้แทนบริษัทรถไฟไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) และตัวแทนจาก บ.อิตาเลียน-ไทย เข้าร่วม​ ณ​ ศาลา​ว่าการเมืองพัทยา​ จ.ชลบุรี​


สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (High Speed Rail Linking Three Airport) เป็นโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ตามแผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC โดยเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณในการดำเนินงานกว่า 2.24 แสนล้านบาท

โดยได้มีการลงนามสัญญาลงทุนโครงการลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP Net Cost ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนไปแล้วตั้งแต่เดือน​ ต.ค.ปี​ 2562​ ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำการศึกษา สำรวจ และก่อสร้างโครงการถไฟฟ้าความเร็วสูงระยะทาง 220 กิโลเมตร​ ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีสถานีแวะพักจอด 10 แห่ง มีแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว​รายงานว่า​ หัวข้อหลักของการประชุมในวันนี้​ คือการสอบถาม และหาความร่วมมือกันในการพิจารณาแนวทางเส้นทางการเดินรถของการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่พาดผ่านพื้นที่เมืองพัทยาตลอดระยะทางกว่า 16 กิโลเมตร​ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่​เมืองพัทยา​ ทำสัญญาเช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการจัดทำถนน Local Raod หรือเลียบทางรถไฟเพื่อระบายปัญหาการจราจรในเส้นทางหลัก หรือถนนสุขุมวิท ซึ่งมีสถิติพบว่ามีจำนวนผู้คนใช้รถยนต์แต่ละวันเฉลี่ยสูงกว่า 2-3 แสนคัน


อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง​ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนได้ จีงมีความเห็นในการก่อสร้างโครงการฯ​ ที่หลากหลายประเด็น​ เช่น ความต้องการให้ใช้พื้นที่จุดจอดของรถไฟฟ้าบริเวณตำแหน่งของสถานีรถไฟเดิม ใกล้ซอยพรประภานิมิต เนื่องจากเมืองพัทยา​กำลังศึกษาแนวทางการจัดทำระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือ MonoRial เพื่อต่อเชื่อมการเดินทางและเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

รวมทั้งจัดสรรหาพื้นที่กว่า 140 ไร่เพื่อจัดทำ TOD หรือศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สะดวกสบาย

ขณะที่ปัญหาตลอดแนวเส้นทางแม้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่า​ โครงการฯ​ จะใช้แนวเส้นทางรถไฟ และเป็นการจัดสร้างในระบบยกระดับขนาดความสูงกว่า 14-16 เมตร แต่ก็ต้องมีการก่อสร้างเสาตอม่อฐานรากขนาด 3​ คูณ​ 3 เมตรตลอดแนวเส้นทาง ทำให้ในบางช่วงอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในการสัญจรไปมา

เนื่องจากขนาดของแนวถนนนั้นแม้ว่าฝั่งตะวันออกจะมีขนาดความกว้าง 10 เมตร และฝั่งตะวันตกขนาดความกว้าง 6 เมตร ซ้ำยังมีหลายช่วงที่มีขนาดคับแคบจนอาจทำให้จะต้องมีการเวนคืนหรือปิดเส้นทางเพื่อทำการก่อสร้าง จึงจำต้องวางแผนการแก้ไขทั้งแนวทางการก่อสร้างที่ต้องส่งผลกระทบ และรายละเอียดในการบริหารจัดการเรื่องของสัญญาเช่าและแผนการรองรับปัญหาการจราจรโดยละเอียดอีกครั้ง


นายพรเจริญ ธนานารถ ผู้แทนบริษัท​รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท​ เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) กล่าวว่า การประชุม​ในครั้งนี้เพื่อชี้แจงรายละเอียดของการออกแบบเบื้องต้นให้แก่เมืองพัทยา​ ได้รับทราบถึงสภาพปัญหาและพื้นที่จริงว่ามีปัญหาหรือแนวทางการจัดการอย่างไร

โดยเฉพาะแผนจัดทำระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorial เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากสถานีจอดไปยังแหล่งท่องเที่ยวและที่พักในเขตเมืองพัทยา และยังเชื่อว่าตลอดระยะเวลาของการก่อสร้างอาจเกิดผลกระทบต่อการสัญจรไปมาของประชาชนตลอดแนวเส้นทางรถไฟอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องร่วมกันพิจารณาเพื่อวางแผนปรับปรุงและพัฒนาแบบแปลนให้เกิดความสมบูรณ์สูงสุด

และคาดว่าจะมีการสรุปผลการศึกษาและออกแบบอย่างเป็นทางการภายในเดือน ต.ค.นี้







กำลังโหลดความคิดเห็น